1.10.53

เมตตา และ วิธีเจริญเมตตา

เมตตา....และวิธีเจริญเมตตา

เมตตาเป็นพรหมวิหารหนึ่งในพรหมวิหาร ๔ ซึ่ง
ได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา
คำว่าพรหมวิหารนั้น แปลว่า ธรรมอันเป็นเครื่องอยู่อันประเสริฐ หรือไม่มีโทษ ก็ธรรมเหล่านี้มีเมตตาเป็นต้น จัดว่าเป็นเครื่องอยู่อันประเสริฐ ก็เพราะความที่เป็นการปฏิบัติชอบ ในสัตว์ทั้งหลาย โดยเหตุที่จะนำความสุข ความสวัสดีมาสู่สัตว์เหล่านั้น.................

ความหมายของคำว่า "รัก" ของเมตตานี้ แตกต่างไปจากความรักของตัณหา ด้วยความรักมีสองอย่างคือ รักด้วยเมตตา และ รักด้วยตัณหา

รักด้วยเมตตาเป็นอย่างไร ?
รักด้วยตัณหาเป็นอย่างไร ?


ความรักด้วยเมตตา เป็นความเยื่อใยในคนอื่น ใคร่จะให้เขาได้ดีมีสุข โดยไม่ได้คำนึงว่า การได้ดีมีสุขของคนเหล่านั้น ตนเองจะมีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่

ส่วนความรักด้วยตัณหา เป็นเพียงความอยากได้เป็นเพียงความเพลิดเพลินว่า ถ้าบุคคลนั้นมีอยู่เป็นไป
อยู่ก็เป็นความสุขแก่เรา แม้ว่าบางครั้งจะเป็นการกระทำที่คิดว่าจะให้ผู้อื่นได้ดีมีสุขก็ตาม ตนเองต้องมีส่วนเกี่ยวข้องในความได้ดีมีสุขนั้นด้วย จึงจะกระทำ

      ความรักด้วยเมตตา ไม่มีการหวังผลตอบแทน แม้เพียงให้ผู้อื่นเห็นความดีของตน จึงไม่เป็นเหตุแห่งความทุกข์ ความเสียใจเนื่องจากความผิดหวังในภายหลัง

      ส่วนความรักด้วยตัณหา มีการหวังตอบแทน ต้องการให้เขารักตอบ โดยที่สุด แม้เพียงให้เขาเห็นความดีของตน เพราะฉะนั้น จึงมีโอกาสเป็นเหตุแห่งความทุกข์ความเสียใจ อันเนื่องมาแต่ความผิดหวังในภายหลังได้ สมตามพระดำรัสที่ว่า "ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์"

      นี่เป็นความแตกต่างระหว่าง เมตตา กับ ตัณหา
ความจริง คนเรายังละตัณหาไม่ได้อย่างพระอรหันต์ ก็มีทั้งความรักด้วยเมตตา และตัณหา เพียงแต่ว่า ในทั้งสองอย่างนั้น อย่างไหนจะเป็นประธานออกหน้ากว่ากันเท่านั้น

เพื่อเป็นการทำความรู้จักกับธรรมชาติ ที่ชื่อว่า "เมตตา" นี้ดียิ่งขึ้น จึงควรทราบลักษณะเป็นต้นแห่งความเมตตานี้ก่อนดังต่อไปนี้

เมตตา - มีความเป็นไปโดยอาการเกื้อกูล เป็นลักษณะ
- มีความนำเข้าไป ซึ่งประโยชน์เกื้อกูลเป็นรส (กิจ)
- มีการกำจัดความอาฆาตเป็นอาการปรากฏ
- มีการเล็งเห็นภาวะ ที่สัตว์ทั้งหลายน่าพอใจ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด

ก็สมบัติ คือ คุณของเมตตานี้ ได้แก่ความเข้าไปสงบความพยาบาทได้นั่นเอง เพราะธรรมชาติของเมตตาเป็นไปเพื่อกำจัดโทสะ ความเกิดขึ้นแห่งความใคร่ จัดว่าเป็นความวิบัติของเมตตา เพราะเหตุที่จะกลับกลายเป็นความรักด้วยตัณหาไป ดังนี้

เพื่อเป็นการปลูกอุตสาหะ จะได้กล่าวถึงอานิสงส์ หรือ ประโยชน์ที่จะพึงได้รับจากการเจริญเมตตา ผู้เจริญเมตตา พึงได้รับอานิสงส์ ๑๑ ประการ คือ

๑. หลับเป็นสุข
๒. ตื่นเป็นสุข
๓. ไม่ฝันร้าย
๔. เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย
๕. เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย
๖. เทวดารักษา
๗. ไฟก็ดี ยาพิษก็ดี อาวุธก็ดี ย่อมล่วงเกินเขาไม่ได้
๘. จิตย่อมตั้งมั่นได้เร็ว
๙. มีสีหน้าผ่องใส
๑๐. ไม่หลงตาย
๑๑. เมื่อยังแทงตลอดธรรมที่สูงไปกว่านี้ไม่ได้ ก็จักเข้าถึงพรหมโลก

วิธีเจริญเมตตา

อันดับแรก ก่อนที่จะเจริญเมตตา ควรพิจารณาคุณของขันติ คือความอดกลั้น และโทษของความโกรธก่อน ถามว่า เพราะเหตุใด เพราะว่าการเจริญเมตตานี้เป็นไปเพื่อละโทสะ และเพื่อบรรลุธรรม คือ ขันติ ถ้าเราไม่รู้จักโทษของความโกรธ เราก็จะละความโกรธไม่ได้ และถ้าไม่รู้จักคุณของขันติ ก็จะบรรลุขันติไม่ได้

ควรพิจารณาเสมอว่า คนเราถ้าขาดความอดกลั้นเสียอย่างเดียว จะทำการงานอะไรๆ ให้สำเร็จมิได้เลยเพราะมีปัญหาอะไรนิดๆหน่อยๆ เขาก็ทนไม่ได้ คืองานหนักหน่อยก็บ่น ไม่ถูกใจผู้บังคับบัญชา หรือ เพื่อนร่วมงาน แม้ในเรื่องเล็กๆน้อยๆก็บ่น ก็ทนไม่ได้ จะหยุดงาน จะลาออก อย่างนี้แล้วจะไปประสบความสำเร็จในการงานอาชีพอะไรได้ เพราะมัวแต่ตั้งต้นกันใหม่ เริ่มกันใหม่อยู่ร่ำไป ทางโลกซึ่งเป็นเรื่องหยาบ
ยังเป็นอย่างนี้ ทางธรรม โดยเฉพาะการปฏิบัติธรรมในส่วนเบื้องสูง จะป่วยกล่าวไปใยถึงความสำเร็จ ขันติจึงเป็นธรรมที่ต้องการอย่างยิ่ง ในเบื้องต้น ขาดขันติแล้ว การเจริญกุศลทุกอย่าง ย่อมสำเร็จไปไม่ได้
แม้แต่กุศลขั้นต่ำสุด คือทาน ได้แก่การให้ก็จะทำได้ไม่ดี เพราะพอรู้สึกว่ายากลำบากหน่อยก็จะทำได้ไม่ดี เพราะพอรู้สึกว่ายากลำบากหน่อยก็จะไม่ทำ เมื่อกุศลขั้นต่ำสุด ยังทำไม่ได้ กุศลที่สูงยิ่งไปกว่านี้ จึงมิจำเป็นต้องพูดถึง เพราะเป็นเรื่องที่ต้องฝืนกิเลสมากกว่า จึงต้องใช้ความอดกลั้นมากกว่า

ก็เป็นอันว่า ขันติคือความอดกลั้น เป็นธรรมที่จำเป็นต้องมีกำกับในการกระทำกุศลทุกอย่าง เพราะเหตุนั้น นั่นเอง จึงทรงตรัสสรรเสริญธรรม คือ ขันตินี้ไว้ในฑีฆะนิกาย มหาวรรค ว่า

ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา

ซึ่งแปลว่า "ขันติ คือ ความอดกลั้นเป็น ตบะ (ธรรมเครื่องแผดเผากิเลสให้ไหม้ไป) อย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวนิพพานว่า เป็นธรรมที่ยอดเยี่ยม" ดังนี้ หรือใน ขุทกนิกาย ธรรมบท ๒๕/๖๙ ว่า

ขนฺติพลํ พลานีกํ ตมฺหํ พฺรูมิ พฺราหฺมณํ

ซึ่งแปลว่า "เรากล่าว บุคคลผู้มีขันติเป็นกำลังเป็นกองทัพนั้นว่า เป็นพราหมณ์" ดังนี้ หรือใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ๑๕/๓๒๕ ว่า

ขนฺตฺยา ภิยฺโย น วิชฺชติ

ซึ่งแปลว่า "ประโยชน์ยิ่งกว่าขันติ หามีไม่" ดังนี้เป็นต้นนี้เป็นคุณของขันติที่พึงพิจารณาเนืองๆ
 


Thank you for Dhamma : http://board.dserver.org/e/easydharma/00000015.html

ไม่มีความคิดเห็น: