25.11.53

เทศน์หลวงพ่อกล้วย วันเข้าพรรษา ปี 2553


เทศน์หลวงพ่อกล้วย
วันเข้าพรรษา ปี 2553 (27 กรกฎาคม พ.ศ.2553)
เจริญ ธรรมญาติโยมทุกคนทุกท่าน ขอให้ญาติโยมจงเจริญสติ สร้างความรู้ตัวให้มีให้เกิดขึ้นในกายของเรา ด้วยการสร้างความรู้สึกรับรู้การหายใจเข้าออกของเราให้ต่อเนื่อ งกัน นั่งตามสบายนะ วางกายให้สบาย วางใจให้สบาย ไม่ต้องพนมมือ ทำจิตของเราให้สงบ ลองสูดลมหายใจเข้าไปยาวๆลึกๆ การสูดลมหายใจเข้าไปยาวๆและผ่อนลมหายใจออกมายาวๆ กายของเราก็สบายขึ้นเยอะ ความรู้สึกรับรู้สัมผัสของลมหายใจที่กระทบปลายจมูกของเรา มีความรู้สึกรับรู้อยู่ และก็รู้ให้ต่อเนื่อง เขาเรียกว่า “สติรู้กาย” เขาเรียกว่ารู้กาย ความรู้กาย อันนี้เป็นส่วนหนึ่งของกาย ถ้าต่อเนื่องก็จะรู้ลักษณะของจิต รู้ความปกติของจิตอยู่กลางใจของเรา ถ้าเราเจริญสติให้ต่อเนื่องตั้งแต่ตื่นขึ้นมา ตั้งแต่ยังไม่ลุกจากที่ นี่แหละเขาเรียกว่าการเริ่ม เริ่มทำความเข้าใจ กับน้อมเข้าไปดูภายใน น้อมเข้าไปรู้ภายใน ความคิดที่เกิดจากตัวใจเขาเกิดส่งออกไปภายนอกได้อย่างไร เขาเริ่มเกิดอย่างไร เขาเริ่มก่อได้อย่างไร ความรู้สึกตัวเราสร้างขึ้นมา เราสร้างขึ้นมาให้ต่อเนื่องหรือไม่ ความคิดเก่าๆที่เกิดจากใจ เกิดจากอาการของใจนั้นมีอยู่ เราเคยชินกับความคิดเก่าๆ ก็เลยหลงอยู่ตรงนั้นอยู่ มันก็น่าหลงอยู่หรอก เพราะว่าตัวจิตกับอาการของจิต ความคิดเก่าๆนั้นเขามีมาไม่รู้กี่ชาติกี่กัปกี่กัลป์แล้ว เราจะมาพลิกมาหงายมาแยกแยะมารู้มาทำความเข้าใจ ต้องเป็นบุคคลที่มีความเพียร มีความขยันหมั่นเพียร สร้างตบะสร้างบารมี หมั่นขัดเกลา หมั่นละกิเลส ออกจากใจของเรา หมั่นหาเหตุหาผล ทำความเข้าใจให้รู้เหตุรู้ผล หมั่นพร่ำสอนใจของเรา จนใจของเรารับรู้เห็นตามความเป็นจริงนั่นแหละ เขาถึงจะปล่อยจะวางได้ ไม่ใช่ว่าเขาจะปล่อยจะวางได้ง่ายๆเหมือนกัน
แม้ ตั้งแต่เรื่องบุญเราอย่าเอาแค่การทำบุญ การให้ทาน เราอย่าเอาแค่มาวัดเราก็ได้บุญแล้ว มาวัดก็พยายามเข้าให้ถึงวัด พระพุทธองค์ท่านสอนเรื่องอะไร สอนเรื่องทุกข์ อะไรคือสาเหตุแห่งทุกข์ ลักษณะของความทุกข์คือความไม่เที่ยง การเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทุกคนก็ได้ประพฤติวัดปฏิบัติขัดเกลากันมา อย่าไปปิดกั้นตัวเอง ว่าไม่ได้ปฏิบัติ ทุกคนปฏิบัติกันมาแล้วแหละ แต่อยู่ในระดับของโลกียะ รู้จักผิดถูกชั่วดี รู้จักทำบุญให้ทาน ฝักใฝ่ในการทำบุญ อยากจะดับทุกข์อยากจะหลุดพ้น ตรงนี้แหละตรงอยากจะดับทุกข์อยากจะหลุดพ้นนี่แหละ การเจริญสติ ความหมายของการสร้างสติความรู้ตัว ส่วนมากก็ไปนึกเอาไปคิดเอาไปแสวงหาด้วย ตัวจิตไปแสวงหาเอาก็เลยไม่เจอ เราต้องสร้างความรู้ตัว พลั้งเผลอเราก็เริ่มขึ้นใหม่ พลั้งเผลอก็เริ่มขึ้นใหม่ เริ่มอยู่บ่อยๆ ส่วนบนส่วนสมอง ส่วนใจของเราเคลื่อนเข้าไปรวม ไปบงการส่วนสมองได้อย่างไร เขาไปร่วมกันได้อย่างไร บางทีก็มีความคิดที่เราไม่ได้ตั้งใจคิด (ไม่ได้เกิดจากตัวใจ) ผุดขึ้นมาแล้วตัวใจเข้าไปร่วมได้อย่างไร อันนี้เป็นของละเอียดจริงๆ ถ้าความรู้ตัวของเราไม่เข้มแข็งไม่ต่อเนื่อง ไม่แหลมคม ก็ยากที่จะเข้าใจนะ เราต้องพยายามสร้างให้ได้ ตั้งแต่ตื่นขึ้นมา ตั้งแต่ยังไม่ลุกจากที่ จะลุกจะก้าวจะเดิน ความรู้สึกอยู่ที่การเดินบ้าง จะเข้าห้องส้วมห้องน้ำใจของเราเป็นอย่างไร ปกติดีอยู่หรือไม่ ส่วนมากมันก็คิดไปแล้ว เพราะว่าความเคยชิน รู้ อยู่ว่าความคิดมันเป็นทุกข์ ก็รู้อยู่แค่นั้น แต่การดับ การควบคุม การผืน การสังเกต การแยกแยะมันไม่มี มีตั้งแต่ไปคิดเอา ไปหาเหตุหาผลเอา เลยปิดบังอำพรางตัวเอง ตัวจิตก็ปิดบังอำพรางตัวจิตเหมือนกัน ความคิดก็มาปิดบังอำพรางตัวจิตอีก กายเนื้อก็มาปิดบังอำพรางตัวจิตอีก แม้แต่ความอยากจะรู้ธรรม มันก็ปิดบังเอาไว้อีก เราต้องสร้างความรู้สึกตัวให้ต่อเนื่อง และก็รู้อยู่กับปัจจุบัน ทำปัจจุบันให้แจ้ง รู้ต้นเหตุ ให้รู้ต้นเหตุเสียก่อน ส่วนมากจะไปเอากลางเหตุปลายเหตุ กลางเหตุปลายเหตุ และก็วิ่งตามความคิด วิ่งตามอารมณ์ คลายออกจากจิตของเราให้มันหมด ให้เหลือตั้งแต่ความว่าง ในความว่างนั่นแหละมีดวงจิตอยู่ จิตของเราก็อยู่กลางใจนั่นแหละ มันไม่อยู่ไหนหรอก เวลาตกใจมันตกใจอยู่ตรงไหน เวลาเกิดความอยากมันเริ่มก่อตัวอยู่ตรงไหน เวลาปรุงแต่งลักษณะอาการของการปรุงแต่ง มันเริ่มปรุงแต่งได้อย่างไร เพียงแค่ตัวจิตปรุงแต่ง กับอาการของจิตอีกมาปรุงแต่งจิตอีก บางทีก็ผสมโรงกับตัวปัญญาอีกส่งออกไปข้างนอก วิ่งออกไปข้างนอก ไม่จบสักที เราต้องให้จบข้างใน จบภายในก็จะล้น สติปัญญาก็จะล้นออกไปทำความเข้าใจกับโลกธรรมแปด ทำความเข้าใจกับสมมติ ใช้สมมติให้เกิดประโยชน์ อย่างน้อยๆก็คงจะดับทุกข์ได้ระดับหนึ่ง ถ้าความเพียรของเรามีเต็มเปี่ยม เราก็อาจจะดับทุกข์ได้เด็ดขาดในขณะที่เรายังมีลมหายใจอยู่ เด็ดขาดทางด้านจิต แต่กายก็ยังเป็นก้อนทุกข์อยู่ เขาก็ยังกินอยู่ หลับนอน ขับถ่ายอยู่ เขายังทำหน้าที่ของเขาอยู่
กาย ไม่อยู่ในอำนาจของจิตนะ แต่ทุกคนตัวจิตไปยึดมั่นถือมั่นว่ากายเป็นตัวตนของเราจริงๆ ก็เป็นของเรานั่นแหละในทางสมมติ แต่ในหลักธรรมแล้วก็เป็นแค่เครื่องอยู่อาศัยของจิต เป็นคูหาเป็นเครื่องอยู่ของจิต จิตมาอาศัยกายนี้อยู่ ก็เลยมาหลงมายึด มาก่อภพก่อชาติ ภพมนุษย์ก็เกิดขึ้นมาแล้ว ชาติมนุษย์ก็เกิดขึ้นมาแล้ว ความชรา ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความชราคร่ำคร่า ก็ตามมา สักวันหนึ่งก็จะเข้าสู่หลักของ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือความว่างเปล่า กลับคืนสู่สภาวะเดิมคือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ถ้าเรามาหัดวิเคราะห์มาหัดจำแนกแจกแจง เราจะเห็นชัดเจนมากทีเดียว ส่วนมากก็จะมองเฉพาะในภาพรวม ขาดการจำแนกแจกแจง ก็เลยไม่เข้าใจตรงนี้กันเท่าไหร่ ก็เลยเข้าไม่ถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า
คำ สอนของพระพุทธเจ้า ท่านให้ทำความเข้าใจกับสมมติ ให้เคารพสมมติ ไม่ยึดติดสมมติ แล้วก็ทำหน้าที่ของสมมติให้ดี แล้วก็อาศัยกันอยู่ ถ้าถึงวาระเวลา ก็ต้องได้ทิ้งสมมติ แต่เราให้วางด้วยปัญญาเสียก่อน ความโลภเกิดขึ้นกับจิตของเรามากน้อยเท่าไหร่ ความโกรธเกิดขึ้นกับจิตของเรามากน้อยเท่าไหร่ ความโลภ ความโกรธ แต่ความหลงนี่มันคลายได้ยาก ถ้ากำลังสติไม่เพียงพอก็ยากอยู่ แต่การสร้างอานิสงส์สร้างบารมี การทำบุญให้ทาน ไปทำบุญที่โน่นบ้าง ไปทำบุญที่นี่บ้าง ไปปฏิบัติธรรมที่นู่นบ้างที่นี่บ้าง ก็พากายไปปฏิบัติ ก็เน้นลงอยู่ที่กายของเรานั่นแหละ ไม่ได้ไปอยู่ที่ไหนหรอก เป็นแค่เพียงอุบายหาแนวทางหาวิธีเท่านั้นเอง บุคคลที่เข้าใจแล้วว่าการเจริญสติ ความรู้สึกตัวอยู่กับปัจจุบันเป็นลักษณะอย่างนี้ ความรู้ตัวที่ต่อเนื่องกันเป็นอย่างนี้ เรารู้ตัวจากหนึ่งนาที สองนาที เป็นห้านาที สิบนาที ยี่สิบนาที เป็นชั่วโมง เป็นวันเป็นเดือน เป็นปี ถ้า เราแยกแยะได้ ตามดู ตามรู้ ตามเห็นได้ กำลังสติของเราก็จะพุ่งแรง ตามทำความเข้าใจ ละกิเลสหยาบ กิเลสละเอียด ออกจากใจของเรา ละความโลภ ละความโกรธ ละนิวรณ์ธรรมต่างๆ ออกจากใจของเรา ก็เข้าสู่ในหลักธรรมคือ การเข้าสู่วิปัสสนาญาณ วิปัสสนาภูมิ ละสักกายะทิฐิ ละความเห็นผิด ละอัตตาตัวตน ละทิฐิละมานะ ละศีลพรตปรามาศ ไม่ถืองมงาย มองเห็นเหตุเห็นผล รู้เห็นตามความเป็นจริงทุกสิ่งทุกอย่าง หมดความสงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีตั้งแต่เดินให้ถึงจุดหมายปลายทาง จิตเกิดกิเลส เราก็ดับกิเลส ละกิเลส ส่วนมากตัวจิตมันไปแสวงหาธรรม มันจะไปเจอได้ยังไง เอาตัวจิตไปข่มจิตมันจะไปนั่นได้ยังไง เราต้องสร้างความรู้ตัว ลักษณะของสติรู้ตัวอยู่ในปัจจุบัน เข้าไปดับ เข้าไปควบคุม มันสนุกออก ถ้าเรารู้เราเห็น เราทำความเข้าใจได้ เราจะโดนกิเลสตัวไหนมันเล่นงานเรา หรือว่าจิตจะเป็นทาสของกิเลส หาเหตุหาผล จนจิตยอมรับความเป็นจริง หมั่นพร่ำสอนจิตนี่แหละเขาเรียกว่าตนเป็นที่พึ่งของตน ตนเป็นที่พึ่งของตน คือสติเป็นที่พึ่งของจิต ตนแรกคือตัวสติ ตนที่สองคือตัวจิต เห็นได้ชัดเจน จิตของเราเกิดยังไง จิตของเราหลงอะไร ทีนี้เราก็ยังสมมติให้เกิดประโยชน์อีก อะไรมันผิดพลาดก็รีบแก้ไขเสีย ผิดพลาดก็รีบแก้ไขเสีย บุคคลที่มีปัญญา รู้ฟังนิดเดียว อ่านนิดเดียว ขยันหมั่นเพียร ดูตัวเราเองแก้ไขตัวเราเอง ไม่เข้าข้างตัวเองอีกด้วย เอาความเป็นกลางเอาความว่างเป็นที่ตั้ง จะเอาจะมีก็เป็นเรื่องของปัญญาแล้วที่จะทำให้มีให้เกิดขึ้น พยายามนะไม่ว่าพระว่าโยมว่าชี
เมื่อ วานนี้ญาติโยมก็เยอะ (วันอาสาฬหบูชา) จนแน่นวัดเลย วิหารศาลา ก็แน่นทุกที่ เมื่อคืนนี้ก็เยอะ พากันมาเวียนเทียน ก็ยังเป็นอานิสงส์ เป็นอานุภาพแห่งบุญ แต่เราต้องพยายาม อย่ายึดติดแค่ว่ามาทำบุญ เราต้องพยายามทำใจของเราให้อยู่กับบุญจริงๆ ทำกายให้เป็นบุญ ทำใจทำวาจาให้เป็นบุญ จัดระบบระเบียบของความคิดของอารมณ์ของเราให้ได้เสียก่อน แต่ละวันแต่ละวัน ส่วนมากมาวัดแล้วก็ แต่ละนาที ห้านาที สิบนาที ยี่สิบนาที ใจส่งออกไปภายนอกสักกี่เรื่องก็ไม่รู้ เป็นกุศลหรือว่าเป็นอกุศลก็ยังไม่รู้ นอกจากจะนอนหลับ บางทีหลับไปเขาก็ฝัน ตื่นขึ้นมาก็ไปต่อ แต่ก็ไม่เหลือวิสัย ก็ต้องพยายามนะ พระเราก็มาอยู่ร่วมกันหลายองค์หลายท่าน ก็ให้มีความรัก ให้มีความสมัครสมานสามัคคี เป็นคนที่มีความรับผิดชอบ เป็นคนที่มีขยัน บอกตัวเองให้ได้ ใช้ตัวเองให้เป็น ถ้าบอกตัวเองไม่ได้ ใช้ตัวเองไม่เป็นละก็ อยู่คนเดียวก็หนัก อยู่หลายคนก็หนัก หนักหมู่หนักคณะ หนักเพื่อนหนักฝูง อยู่สถานที่ใดก็ไม่เจริญ ถ้าเรารู้จักวิเคราะห์ตัวเรา แก้ไขตัวเรา มีความรับผิดชอบ มีพรหมวิหาร มีความเมตตาที่สูง ไปอยู่ที่ไหนก็มีความสุข อยู่คนเดียวก็มีความสุข อยู่หลายคนก็มีความสุข ไปอยู่ที่ไหนก็มีตั้งแต่ประโยชน์ ประโยชน์ภายในเราทำให้เรียบร้อย ประโยชน์ภายนอกก็ยังสมมติให้เกิดประโยชน์ ไม่ว่าไปอยู่ในสภาวะอย่างไร เราต้องเป็นบุคคลที่เตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลา การได้ยินได้ฟังได้อ่าน ทุกคนมีกันเต็มเปี่ยม หนังสือหนังหาครูบาอาจารย์มีเกลื่อน เราต้องพยายามเจริญสติเข้าไปวิเคราะห์ตัวเรา หมั่นตรวจสอบเรา สตินี่แหละเป็นครูบาอาจารย์คอยตรวจสอบเรา คอยตรวจสอบจิตของเรา รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ก็เป็นอาจารย์คอยสอนธรรมะให้เรา ว่าจิตของเราจะเกิดกิเลสเกิดความยินดียินร้ายหรือไม่ อันนี้สำหรับสัมผัสสมมติภายนอก แต่ลึกลงไปในกลางใจของเรานั้น ใจของเราก่อตัวอาการยังไง อาการของใจเป็นยังไง ตรงนี้แหละสำคัญ ถ้าเราคลายตรงนี้ได้ก็คลายภายนอกได้ ก็วางอัตตาตัวตนทางด้านสมมติได้ กายก็จะเบา จิตก็จะว่าง โล่งโปร่ง เดินเหินเหมือนกับจะเหาะเลยทีเดียว ต้องพยายามกัน ทำได้มากได้น้อยก็ต้องพยายามศึกษาค้นคว้า พยายามหมั่นสร้างอานิสงส์ สร้างตบะบารมี จากน้อยๆไปหามากๆ สักวันหนึ่งก็คงจะเต็ม เต็มเปี่ยม เต็มรอบเองนะ
ฝน ก็เริ่มมาแล้ว ฝนฟ้าก็เริ่มตก เริ่มมา ก็คงจะไม่แล้งแล้วแหละ ฝนก็เริ่มทยอยเข้ามา ชาวไร่ชาวนาก็คงจะได้เริ่มทำไร่ทำนากัน โครงหลังคาองค์หลวงปู่ใหญ่ก็คงจะอีกไม่นาน อีกสักเดือนหนึ่งก็คงจะได้มุงหลังคา ต่อไปในวันข้างหน้าก็จะเป็นแหล่งบุญใหญ่ของสถานที่ ของทุกคน ได้มากราบมาไหว้เพื่อความเป็นสิริมงคล ของที่เป็นสิริมงคล หลวงพ่อได้อัญเชิญเข้ามาไว้ในสถานที่แห่งนี้หมดแล้ว แม้ตั้งแต่พระบรมสารีริกธาตุซึ่งอัญเชิญส่วนที่ท่านเสด็จมา ก็ได้มาประดิษฐาน ณ สถานที่แห่งนี้ พระพุทธรูปหยกใหญ่ที่เคยมีมาในประเทศของเรา ก็ได้อัญเชิญมาไว้ จัดสร้างขึ้นมาด้วยจิตศรัทธาของผู้ที่ใจบุญสุนทานได้สร้างได้ทำ เอาไว้ หลวงพ่อก็ได้พาจัดสร้างจัดทำ สิ่งที่เป็นสิริมงคลในระดับของสมมติ ในระดับของโลกียะ เอาไว้เกือบจะเต็มเปี่ยม ปีนี้คงจะบริบูรณ์หมดทุกสิ่งทุกอย่าง พระพุทธรูปหลายองค์ ปางลีลาองค์ใหญ่ สูงใหญ่ ลานกว้างขวาง กลางค่ำกลางคืนก็ออกมาเดินมานั่งได้สบาย องค์หลวงปู่ใหญ่ก็สวยงาม และศักดิ์สิทธิ์ด้วย ความศักดิ์สิทธิ์เกิดจากอำนาจแห่งบุญของทุกคน หล่อหลอมร่วมกันเข้ามา ตรงปางประสูติก็กำลังจะปูแกรนิต มุงหลังคาแดดร้อนๆก็เย็นสบาย ใครเข้ามาก็มีตั้งแต่ความร่มรื่นร่มเย็น มีความสุข นี่แหละบุญเกิดขึ้น เพียงแค่ได้เข้ามา ในวัด สบายตา สบายใจ จิตใจมีความอิ่ม มีความปีติ มีความสุข นั่นแหละบุญได้เกิดขึ้นแล้ว เราไม่ต้องไปแสวงหาที่ไหนหรอก เพียงแค่เดินก้าวเข้ามา อากาศร้อนๆก็เย็นชุ่มฉ่ำ จิตใจก็สบาย เข้ามาวัดก็เหมือนกับได้กลับมาบ้าน กลับมาบ้านเรือนของตัวเรา มีความสุข แล้วก็อยู่กับบุญ ก็ขอเชิญชวนนะ ญาติโยมทุกคนทุกท่านมีโอกาสก็มาร่วมกัน มาสร้างอานิสงส์ร่วมกัน สร้างบารมีร่วมกัน เสร็จแล้วก็ไม่ได้สร้าง โอกาสได้เปิดให้ สถานที่ได้เปิดให้ หลวงพ่อก็ขอขอบใจ ขอบคุณเหล่ามนุษย์ทั้งหลาย เหล่าเทวดาทั้งหลายที่ได้มาช่วยกัน ไม่ได้ลำบากไม่อด ไม่อยาก ไม่ลำบาก ไม่มีคำว่าลำบาก ไม่มีคำว่าหมด เพราะว่าอะไร เพราะว่าเหล่ามนุษย์เหล่าเทวดาหลั่งไหลเข้ามา ตรงไหนเป็นแหล่งบุญแหล่งกุศลก็ย่อมจะหลั่งไหลเข้ามา หลวงพ่อก็ขอขอบคุณมากๆเลยทีเดียว ขอขอบคุณเทวดา ขอขอบคุณเหล่ามนุษย์ ที่ได้มาช่วยกัน ได้หลั่งไหลมาช่วยกัน และก็มาอนุโมทนาสาธุ อยู่ในกองบุญกองนี้ได้ตลอดเวลา ทุกคนด้วย ขอเจริญธรรมเพียงเท่านี้ พากันไหว้พระพร้อมๆกัน พากันไปสร้างสานต่อทำความเข้าใจนะ

thanks 4 : http://www.managerroom.com/forums/forum_posts.asp?TID=9703&PN=1

24.11.53

เหตุของคนว่าง่ายสอนง่าย และ ว่ายากสอนยาก

Pay It Forward


ลักษณะของคนว่าง่าย ๑๑ ประการ




๑.ไม่กลบเกลื่อนเมื่อถูกว่ากล่าวตักเตือน ไม่แก้ตัว ไม่บิดพลิ้ว ยอมรับฟังโดยความเคารพ
๒.ไม่ยอมนิ่งเฉยเมื่อถูกตักเตือน พยายามปรับปรุงแก้ไขปฏิบัติตามคำแนะนำนั้น
๓.ไม่มีจิตเพ่งคุณเพ่งโทษผู้ว่ากล่าวสั่งสอน คือ ไม่คอยจับผิดท่าน แต่รับฟังโอวาทด้วยดี
๔.เอื้อเฟื้อต่อคำสอนและต่อผู้สอนเป็นอย่างดียิ่ง คือ ยอมทำตามคำสอนนั้นและเชื่อฟังผู้สอนอย่างดี ทำให้ผู้สอน มีเมตตาเกิดกำลังใจที่จะสอนต่อๆ ไปอีก
๕.เคารพต่อคำสอนและต่อผู้สอนเป็นอย่างดียิ่ง ตระหนักดีว่าผู้ที่เตือนคนอื่นนั้น นับว่าเสี่ยงต่อการที่จะโกรธมาก ดังนั้นการที่มีผู้ว่ากล่าวตักเตือนเรา แสดงว่าเขาจะต้องมีคุณธรรม มีความเสียสละ มีความเมตตาปรารถนาดีต่อตัวเราจริงๆ จึงต้องมีความเคารพต่อคำสอน และตัวผู้สอน เป็นอย่างดียิ่ง
๖.มีความอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นอย่างดียิ่ง ไม่แสดงความกระด้างกระเดื่องโอหัง คิดว่าตัวเองดีอยู่แล้ว เก่งอยู่แล้ว
๗.มีความยินดีปรีดาต่อคำสอนนั้น ถึงกับเปล่งคำว่า สาธุ สาธุ สาธุ รับโอวาทนั้น คือ ดีใจอย่างยิ่งว่าท่านกรุณาชี้ข้อบกพร่องของเราให้เห็น จะได้รีบแก้ไข เหมือนท่านชี้ขุมทรัพย์ให้ จึงเปล่งวาจาขอบคุณไม่ขาดปาก
๘.ไม่ดื้อรั้น คือ ไม่ดันทุรังทำไปตามอำเภอใจ ทั้งๆที่รู้ว่าผิดแต่ทำไปตามความถูกต้อง เมื่อผิดก็ยอมแก้ไขปฏิบัติไปตามสมควรแก่ธรรม
๙.ไม่ยินดีในการขัดคอ ไม่ศอกกลับ มีความประพฤติชอบเป็นที่พอใจ เป็นที่ปรารถนา
๑๐.มีปกติรับโอวาทเอาไว้ดีเยี่ยม ตั้งใจฟังทุกแง่ทุกมุมไม่โต้ตอบ ยิ่งไปกว่านั้นยังปวารณาตัวไว้อีกว่า ให้ว่ากล่าวสั่งสอนได้ทุกเมื่อ เห็นข้อบกพร่องของตนเมื่อใดก็ให้ตักเตือนได้ทันที
๑๑.เป็นผู้อดทน แม้จะถูกว่ากล่าวสั่งสอนอย่างหยาบคายหรือดุด่าอย่างไรก็ไม่โกรธ อดทนได้เสมอ เพราะนึกถึงพระคุณของท่านเป็นอารมณ์

โดยสรุปลักษณะคนว่าง่ายสอนง่าย สรุปโดยย่อได้ ๓ ประการ คือ
๑.รับฟังคำสั่งสอนด้วยดี ไม่กลบเกลื่อน ไม่แก้ตัว ไม่เถียง ไม่ขัดคอ ไม่ศอกกลับ ไม่จ้องจับผิดท่าน
๒.รับทำตามคำสั่งสอนด้วยดี ไม่ดื้อรั้น ดันทุรัง ไม่รีรอ อิดออด กระบิดกระบวน
๓.รับรู้คุณผู้สอนอย่างดี ไม่โกรธ ไม่คิดลบหลู่คุณท่าน อดทนได้ แม้ถูกว่ากล่าวสั่งสอนโดยหยาบคาย ไม่ว่าผู้สอนนั้นจะ
-เป็นผู้ใหญ่กว่า ซึ่งเราทำใจยอมรับได้ง่าย
-เป็นผู้เสมอกัน ซึ่งเราทำใจยอมรับได้ยากขึ้น
-เป็นผู้น้อยกว่า ซึ่งเราทำใจอยมรับได้ยากที่สุด

สาเหตุที่ทำให้คนเราว่ายากสอนยาก มีอยู่ ๑๖ ประการ 


๑.มีความปรารถนาลามก เช่น อยากรวยจึงไปค้าฝิ่นค้าเฮโรอีน เล่นการพนัน ใครห้ามก็ไม่ฟัง อยากได้ยศได้ตำแหน่งสูงๆ จึงทับถมเพื่อนร่วมงานกลัวเขาได้เกินหน้า ใครตักเตือนก็ไม่ฟัง
๒.ชอบยกตนข่มท่าน หลงตัวเองว่าวิเศษกว่าคนอื่น ไปถึงไหนๆ ก็คิดแต่ว่าตนเก่ง ใครๆ ก็สู้เราไม่ได้ ทำให้เกิดความทะนงตนดื้อ ใครเตือนก็ไม่ฟัง
๓.มีนิสัยมักโกรธ พอมีใครเตือนใครสอนอะไรก็โกรธขึ้นมาทันที พอเตือนครั้ง สองครั้ง ก็มีอาการขึ้นมาทีเดียว “รู้แล้วน่ะ มาพูดเซ้าซี้อยู่ได้ เดี๋ยวไม่ทำเลย” แล้วก็หน้าหงิกหน้างอ หน้านิ่วคิ้วหมวด คนพวกนี้ ว่ายาก
๔.มีนิสัยผูกโกรธ คือ ไม่ใช่โกรธธรรมดาแต่ใครทำให้โกรธหน่อยก็เก็บผูกติดเอาไว้ในใจเป็นปีๆ เลย คนพวกนี้ยิ้มไม่ค่อยเป็นหน้าบึ้งทั้งวันใครเตือนเข้าหน่อยหน้าบึ้งทั้งวัน ใครเตือนเข้าหน่อย เหมือนจะแยกเขี้ยวเข้าไล่งับทีเดียว ไม่ฟัง
๕.มีความรังเกียจเหยียดหยามเพราะฤทธิ์โกรธ คือ ไม่ใช่แค่หน้าบึ้งเฉยๆ แต่พอโกรธ ใครเตือนทำให้ไม่พอใจแล้ว ก็แสดงอาการรังเกียจเหยียดหยามทันที เช่น กระทืบเท้าปังๆ กระแทกประตูโครมคราม สะบัดหน้าหนี ถ่มน้ำลาย ฯลฯ
๖.คิดต่อว่าต่อขาน คือ พอมีใครมาตักเตือนเข้าแล้ว ก็เกิดอาการคันปากยิบๆ ขอให้ได้ต่อปากต่อคำแล้วจึงจะสมใจ เช่น ไปวัดมีคนเตือนให้แต่งตัวให้เรียบร้อย ก็ตอบทีเดียว “หนักหัวใคร” เป็นเสียอย่างนั้น ชอบพูดคำที่ทำให้ใกล้ต่อความโกรธ ทำให้ไม่ฟังคำแนะนำตักเตือน
๗.คิดโต้แย้ง คือ เมื่อมีผู้แนะนำตักเตือนให้เห็นข้อบกพร่องของตนแล้วก็รีบโต้แย้งแก้ตัวทันที เช่นไปหาผู้ใหญ่แล้วแต่งตัวไม่เรียบร้อย พอมีคนเตือนเข้าก็แย้งทันทีว่า “ชอบแต่งตัวตามสบาย ไม่เสแสร้งแกล้งทำ” เป็นเสียอย่างนั้น
๘.คิดตะเพิด คือ ไม่สงบปากสงบคำรับเอาคุณความดีจากผู้หวังดีแต่กลับพูดจาระรานเขา เช่น “คุณนี่วันๆ ดีแต่นั่งจับผิดชาวบ้านเขาหรือไง” ตะเพิดเขาส่งไปเลย
๙.คิดย้อน คือ นอกจากไม่ฟังแล้วยังพูดย้อนให้เขาเจ็บใจ เช่น “คุณไม่ต้องมาสอนฉันหรอกน่า ฉันรู้จักเอาตัวรอดได้ ไปสอนสามีคุณลูกคุณเถอะไป๊” พูดย้อนเขาได้แล้วจึงจะสะใจ
๑๐.คิดกลบเกลื่อน คือ พอมีใครพูดถึงข้อบกพร่องของตัวก็พูดกลบเกลื่อน เฉไฉออกไปเรื่องอื่น ไม่ยอมรับกลัวเสียหน้า
๑๑.คิดนอกเรื่อง คือ เมื่อมีคนเตือนแล้ว กลับมองเจตนาเขาไปอีกแง่หนึ่งว่าเขาเตือนเพื่อหวังผลประโยชน์ กลายเป็นคนมองคนในแง่ร้าย จึงไม่ยอมรับฟัง
๑๒.คิดปิดยังซ่อนเงื่อน คือ เมื่อไปทำอะไรผิดมาแล้วไม่ยอมเปิดเผย จึงกลายเป็นคนมีชนักติดหลัง ใครพูดอะไรนิดอะไรหน่อยก็หวาดสะดุ้ง เกรงเขาจะรู้ความผิดของตัว จึงมีใจขุ่นอยู่เสมอ ไม่เป็นอันตั้งใจฟังอะไรได้ กลายเป็นคนว่ายากสอนยาก
๑๓.คิดลบหลู่ตีเสมอ คือ เป็นคนไม่มีความกตัญญู ใครทำความดีไว้กับตัว ก็พยายามลบหลู่ตีเสมอเหยียบย่ำเขาลงไป เพราะเกรงจะเสียเกียรติจะติดหนี้บุญคุณเขา
๑๔.คิดริษยาเห็นแก่ตัวจัด คือ เป็นคนใจแคบ ใครมาแนะนำอะไรก็รับไม่ได้ เกรงว่าเขาจะเหนือกว่าตัว เกรงว่าเขาจะดีกว่าตัว
๑๕.มีนิสัยโอ้อวด ไปไหนๆ ก็คุยอวดว่าตัวดี ตัวเก่ง พอคุยอวดบ่อยๆ เข้า ก็จะเกิดความรู้สึกลึกๆ ในใจว่า ตัวเองเก่งแล้ว จึงไม่ยอมฟังคำเตือนของใคร
๑๖.มีความเห็นผิด เป็นมิจฉาทิฐิเห็นผิดไปจากความเป็นจริง เช่น เห็นว่าพ่อแม่ไม่มีพระคุณต่อเรา เห็นว่าการให้ทานไม่ควรทำ เพราะทำให้คนขี้เกียจ ฯลฯ เมื่อมีความเห็นผิดเช่นนี้แล้ว เวลามีใครตักเตือนอะไรเข้าแม้เป็นสิ่งดีมีประโยชน์ เขาก็ย่อมมองไม่ออก เห็นเป็นสิ่งไม่ดีอยู่นั่นเอง


วิธีฝึกให้เป็นคนว่าง่าย

เมื่อเราทราบแล้วว่าที่เราเป็นคนว่ายาก ก็เพราะนิสัยไม่ดีทั้ง ๑๖ ประการ ดังได้กล่าวมาแล้ว ดังนั้นเพื่อจะให้เป็นคนว่าง่ายเราก็ต้องกำจัดนิสัยที่ไม่ดีทั้ง ๑๖ ประการนั้น ให้ทุเลาเบาบางและหมดไปจากใจซึ่งทำได้ดังนี้
๑.หมั่นนึกถึงโทษของความเป็นคนหัวดื้อว่ายาก ว่าทำให้ไม่สามารถรับเอาความดีจากใครๆ ได้ เหมือนคนเป็นอัมพาตที่แม้มีของดีรอบตัวก็หยิบเอามาใช้ไม่ได้อย่างนั้น หัวดื้อมากๆ ลงท้ายก็ไม่มีใครอยากสอนอยากเตือนต้องโง่ทั้งชาติทำผิดเรื่อยไป
๒.หมั่นนึกถึงพุทธพจน์ที่ว่า"ผู้ชี้โทษคือผู้ชี้ขุมทรัพย์ให้”
๓.ฝึกให้เป็นคนมากด้วยความเคารพ มองคนในแง่ดี ใครมาแนะนำตักเตือนเราไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตามนึกขอบคุณเขาในใจ เพราะแสดงว่าเขามีความปรารถนาดีต่อเราจึงได้มาเตือนไม่ว่าเรื่องที่เตือนนั้นจะถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่ก็ตาม ก็ให้รับฟังไว้ก่อน ไม่ด่วนเถียงหรือนึกดูหมิ่น เหยียดหยามเขา
๔.ฝึกการปวารณา คือ การออกปากยอมให้ผู้ว่ากล่าวตักเตือนตน ไม่ว่าผู้นั้นจะมีอายุมากกว่า เท่ากัน หรือน้อยกว่าก็ตาม ตัวอย่างเช่น พระภิกษุมีวินัยอยู่ข้อหนึ่งว่า ในวันออกพรรษาให้มีการประชุมกันของพระภิกษุทั้งพระผู้ใหญ่และพระผู้น้อยในวันนี้ พระทุกรูปจะกล่าวคำปวารณากัน คือ อนุญาตให้ผู้อื่นว่ากล่าวตักเตือนตัวเองได้ เรียกว่า วันมหาปวารณา หลักการนี้ สามารถนำมาใช้กับคนทั่วไปได้ เช่น ในหน่วยงานต่างๆ ในครอบครัวทำบ่อยๆ แล้วจะเกิดความเคยชินเป็นนิสัย เป็นการฝึกให้เป็นคนว่าง่ายสอนง่าย
๕.ต้องฝึกสมาธิให้มาก เพื่อให้ใจผ่องใส หนักแน่น สามารถตรองตามคำแนะนำสั่งสอนของผู้อื่น มีใจสงบเยือกเย็นพอที่จะพิจารณาข้อบกพร่องของตนเอง และปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นได้
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับคนหัวดื้อ


อานิสงส์การเป็นคนว่าง่าย
๑.ทำให้เป็นที่เมตตา อยากแนะนำพร่ำสอนของคนทั้งหลาย
๒.ทำให้ได้รับโอวาท อนุศาสนี
๓.ทำให้ได้ธรรมะอันเป็นที่พึ่งแก่ตน
๔.ทำให้ละโทษทั้งปวงได้
๕.ทำให้บรรลุคุณธรรมเบื้องสูงได้โดยง่าย

“บุคคลควรเห็นผู้มีปัญญา ที่คอยกล่าวคำขนาบ ชี้โทษของเราให้เห็น ว่าเป็นดุจผู้ชี้บอกขุมทรัพย์ให้ ควรคบกับบัณฑิตที่เป็นเช่นนั้น เพราะเมื่อคบแล้ว ย่อมมีแต่ดีฝ่ายเดียว ไม่มีเลวเลย” พุทธพจน์

ขอบคุณ http://www1.freehostingguru.com/thaigenx/mongkhol/mk28.htm

เพ่งโทษตัว ไม่เพ่งโทษท่าน

ท่านพุทธทาส

25.10.53

อิทธิบาท 4 (นิทาน โดย ดร.เอ๋ย)


 
ในปี ค.ศ. 1883 ......วิศวกร ชื่อ จอห์น โรบิง คิดอยากจะสร้างสะพานเชื่อม นครนิวยอร์ค กับ ลองไอร์แลนด์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างสะพานทั่วโลกเห็นว่ามันเป็นเรื่องที่ทำไม่ได ้ และ ให้โรบิงเลิกล้มความตั้งใจเสีย แต่โรบิงมีความมุงมั่นที่จะทำให้สำเร็จ
เขาได้ลูกชายชื่อวอชิงตันซึ่งเป็นวิศวกรเช่นกันมาร่วมงานด้วย การก่อสร้างดำเนินไปด้วยดี แต่หลังจากนั้นไม่กี่เดือน ก็เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงที่ทำให้วอชิงตันบาดเจ็บที่สมองและกลายเป็นอัมพาต ไม่สามารถเดิน พูด หรือแม้แต่จะเคลื่อนไหวร่างกาย ผู้คนต่างพูดว่า
เราเตือนคุณแล้ว” “เขาเป็นคนบ้าที่มีความเพ้อฝันโง่ๆ
มันโง่ที่จะไล่ตามความฝันที่เป็นไปไม่ได้
ทุกคนเห็นว่าโครงการนี้ควรถูกยกเลิก แต่ขณะที่วอชิงตันนอนอยู่บนเตียงในโรง พยาบาล เขาได้เห็นแสงอาทิตย์ส่องผ่านช่องหน้าต่าง ลมอ่อนพัดผ้าม่านบางๆโบกพลิ้ว เขามองเป็นท้องฟ้าและยอดไม้ มันเป็นสัญญาณให้เขาสู้ต่อไป
เขารู้ว่าเขายังขยับนิ้วได้หนึ่งนิ้วและ เขาจะใช้มัน เขาเริ่มคิดรหัสที่จะติดต่อกับภรรยาด้วยนิ้วมือนี้ เขาแตะแขนของเธอและสื่อกับเธอว่าเขาต้องการให้วิศวกรทำอะไร และงานก็ดำเนินต่อ   วอชิงตันใช้เวลา 13 ปี ในการสื่อข้อความด้วยการเคาะนิ้วบนแขนของภรรยา จนกระทั่งสะพานถูกสร้างโดยสำเร็จ
 ทุกวันนี้สะพานบรุ๊คลินที่มีชื่อเสียงยืนหยัดเป็นอนุสรณ์ของชัยชนะของผู้ที่มีความมุ่งมั่นไม่ยอมสยบต่อความยากลำบาก บ่อยครั้งที่เราประสบอุปสรรคในชีวิตประจำวัน แต่ปัญหาเหล่านั้นเล็กกว่าปัญหาของผู้อื่น สะพานบรุ๊คลินแสดงให้เราเห็นว่าความฝันที่ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้นั้นสามารถ ไปถึงได้ด้วยความพยายามและความมุ่งมั่น ไม่ว่ามันจะมีโอกาสสำเร็จน้อยเพียงใดก็ตาม
เคยมีบ้างไหมที่คุณหยุดไล่ล่าความฝันหรือ โครงการที่ดำเนินอยู่ หรือแม้แต่ลาออกจากงานหรือจากมหาวิทยาลัย เพราะปะทะกับอุปสรรค หรือมีผู้บอกว่า สิ่งที่คุณพยายามจะไปให้ถึงนั้นมันเป็นเรื่อง เป็นไปไม่ได้และ ปล่อยให้สิ่งนั้นรบกวนจิตใต้สำนึกของคุณตลอดไป
ผู้เขียนมีโอกาสวิเศษสุดครั้งหนึ่งในชีวิต ที่ได้ติดตามพระนิสิตจากมหาจุฬาฯ รูปหนึ่งไปสัมภาษณ์ ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา ปูชนียบุคคลมหัศจรรย์ในวัยเฉียดร้อยปี
คำพูดของท่านแต่ละประโยค เปรียบเสมือนแก้วแหวนให้ผู้เขียนได้เก็บสะสมเป็นแรงบันดาลใจที่มีค่ายิ่ง
ท่านผู้หญิงเป็นผู้ก่อตั้งคณะคุรุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยแยกออกมาจากคณะอักษรศาสตร์ในขณะนั้น ซึ่งแน่นอนการเปลี่ยนแปลงระดับนี้ ย่อมหนีไม่พ้นแรงเสียดทานและอุปสรรคต่าง ๆ อย่างแน่นอน
พระผู้สัมภาษณ์ได้ถามท่านผู้หญิงว่า ท่านจัดการอย่างไรเมื่อประสบกับอุปสรรคต่างๆ
ท่านผู้หญิงให้คำตอบที่ชัดเจนเป็นขั้นเป็นตอนว่า ก่อน อื่น เราต้องแน่ใจว่า สิ่งที่เราทำนั้นเป็นสิ่งที่ดี  ที่ถูกต้อง ที่เป็นประโยชน์ เมื่อแน่ใจแล้ว เราต้องต่อสู้ไปให้ถึงความสำเร็จโดยไม่ท้อถอย
ถ้าโทมัส เอลวา เอดิสัน เลิกล้มความมุ่งมั่นในการค้นพบไส้หลอดไฟฟ้าหลังจากล้มเหลวมาแล้วถึงสองพัน ครั้ง โลกของเราก็คงไม่สว่างไสวในตอนกลางคืนเช่นนี้ แม้ผู้ช่วยจะถอดใจเอ่ยปากว่างานของเราไม่ได้ผลเลย เราไม่ได้เรียนรู้อะไรจากการทดลองแต่เอดิสันตอบด้วยความมั่นใจว่า โอ้ เรามากันไกลมากแล้วหล่ะ ตอนนี้เรารู้จักวัสดุตั้งสองพันอย่างที่เอามาใช้เป็นไส้หลอดไม่ได้
ถ้าคุณเป็นนักอ่าน คุณก็คงรู้จัก อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ อาจารย์ภาควิชาปรัชญา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้เขียนหนังสือชื่อเดินสู่อิสรภาพ
จากประสบการณ์ของท่านที่เดินด้วยเท้าโดยไม่ พกเงินติดตัว ไม่ขอเงิน ไม่ขออาหารจากใคร ไม่ไปหาคนรู้จัก โดยเริ่มต้นจากเชียงใหม่จนถึงปลายทางที่เกาะสมุย ซึ่งใช้เวลานานถึง 66 วัน  หลายคนบอกว่าอาจารย์ บ้า
แต่มันคือความฝันที่อาจารย์ทำให้เป็นจริง เพื่อค้นหาสัจธรรมของชีวิต มันเป็นการเดินทางทั้งภายในและภายนอก ภายในคือการเดินทาง ข้ามพ้นความเสียดาย ความโกรธเกลียด และความกลัวที่อยู่ในใจของตัวเอง
สิ่งที่อาจารย์พบจากการเดินทางคือคุณค่าของ การมีชีวิตอยู่เพื่อผู้อื่น ของความเป็นมิตรไมตรี และ ความมีเมตตาของคนในสังคมที่ยังมีอยู่จริง
หรือคุณคงรู้จักหนุ่มเหล็กเทอร์รี่ ฟ๊อกซ์ ชาวแคนาดา ซึ่งพบว่าเป็นมะเร็งกระดูกเมื่อปี พ.ศ. 2520 เมื่อมีอายุเพียง 19 ปี ทำให้เขาต้องตัดขาขวาทิ้งตั้งแต่หัวเข่าลงไป เมื่อออกจากโรงพยาบาล
เขา ตั้งใจหาทุนเพื่องานวิจัยทางด้านโรคมะเร็งด้วยการวิ่งข้ามประเทศโดยใช้ขา เทียม เขาฝึกซ้อมอย่างหนัก จนในที่สุดในวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2523 เขาก็เริ่มทำตามความฝันเพื่อหาเงินให้ได้ 24 ล้านดอลล่าร์ หรือเฉลี่ยหนึ่งดอลล่าร์ต่อหนึ่งคน ตามจำนวนประชากรชาวแคนาดาในขณะนั้น
หลังจากผ่านไป 143 วัน หรือ 5,373 กิโลเมตร เทอร์รี่มีอาการเจ็บหน้าอกและหายใจไม่ออก เขาถูกส่งไปโรงพยาบาลทันทีและแพทย์แจ้งว่ามะเร็งได้ลามไปที่ปอดของเขา
ระหว่างอยู่ที่โรงพยาบาลมีผู้ที่เขาเคยสร้างแรงบันดาลใจส่งจดหมายให้กำลังใจ มากมาย รวมทั้งประธานโรงแรมโฟร์ซีซั่น ผู้รับรองกับเทอร์รี่ว่าจะจัดให้มีการวิ่งมาราธอนประจำปีเพื่อหาเงินสนับ สนุนโครงการของเขาต่อไป และให้ชื่อว่า เทอร์รี่ ฟ๊อกซ์ รัน
เทอร์รี่เสียชีวิตวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2524 เขาหาเงินได้ 24.71 ล้านดอลล่าร์ มากกว่าที่คาดคิด และปัจจุบัน เทอร์รี่ ฟีอกซ์ รันก็ยังคงหาเงินให้กองทุนวิจัยโรคมะเร็งสืบต่อมาเป็นประจำทั่วประเทศ

บุคคลเหล่านี้ไล่ล่าตามความฝันของเขาที่ยากยิ่งได้อย่างไรได้ด้วยคุณธรรมที่เรียกว่า อิทธิบาท 4” ซึ่งประกอบด้วย:

ฉันทะ หรือมีใจรัก ถือว่าสำคัญมาก การฝืนทำอะไรที่ไม่ได้เกิดจากความพอใจ หรือศรัทธาของเราจริงๆมีแต่สร้างความทุกข์ทรมาน ความเครียด แม้จะได้บางสิ่งที่มุ่งหวังก็ตาม ตรงนี้เป็นจุดที่คำแนะนำของอาจารย์ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์มีค่า
คุณจะสร้างความรักสิ่งที่คุณทำได้ก็ต่อเมื่อ คุณมีศรัทธาว่าสิ่งที่คุณทำเป็นสิ่งที่ดี มีคุณค่า มีประโยชน์ต่อตัวเองและต่อผู้อื่น หากเรื่องนั้นเป็นเรื่องดีจริง ก็จงมุ่งมั่นที่จะทำด้วยความตั้งใจ และหากไม่ดีก็คงต้องเปลี่ยนแปลงศรัทธาเสียใหม่ เช่น หากเราคิดเบื่องานที่เราทำ เราลองเปลี่ยนมุมคิดของเราด้วยการสร้างศรัทธาใหม่ แทนที่คุณจะทำมันด้วยศรัทธาต่อลาภยศสรรเสริญ นั่นคือเพื่อเงินเดือน เพื่อคำชม เพื่อตำแหน่งของคุณเอง คุณลองเปลี่ยนศรัทธาเป็นการสร้างความสุข หรือแก้ความทุกข์ แก้ปัญหาให้แก่ผู้ที่คุณให้บริการ มันจะทำให้คุณมีพลังในการต่อสู้กับความเหน็ดเหนื่อย ต่อความเบื่อหน่ายได้อย่างดียิ่ง

วิริยะ คือความเพียรพยายาม เป็นความมุ่งมั่นทุ่มเททั้งกายและใจ ความเพียรนี้มีปรากฏอยู่ในธรรมะหลายหมวด เช่น พละ 5 ธรรมอันเป็นกำลังให้ดำเนินชีวิตด้วยความมั่นใจ ไม่หวั่นต่อภัยทุกอย่าง, โพชฌงค์ 7 ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้, บารมี 10 คุณธรรมที่ควรประพฤติปฏิบัติอย่างยิ่งยวด หรือทศพิธราชธรรม ธรรมของพระราชา เราได้เห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประกอบด้วยพระราชอุตสาหะวิริยภาพเป็นอย่างยิ่ง
พระองค์ไม่โปรดจะประทับอยู่เฉย แต่เสด็จออกเยี่ยมราษฎรในท้องถิ่นต่าง ๆ แม้ในถิ่นทุรกันดารและห่างไกล ไม่ว่าจะทรงลำบากพระวรกายเพียงใด และ ในวันหนึ่งๆทรงปฏิบัติพระราชภารกิจได้มากมายจนไม่น่าที่จะเป็นไปได้ หากเป็นบุคคลทั่วไปคงต้องใช้เวลาหลายวันทีเดียว 
วิริยะ หรือ ความเพียรเกิดจากฉันทะ หรือ ความศรัทธาในสิ่งที่ทำ และ ต้องมาคู่กับความอดทนอดกลั้น ไม่ย่อท้อต่อปัญหา หรือ ความท้าทาย และมีความหวังที่จะเอาชนะอุปสรรคทั้งหลาย
เปรียบเหมือนเม็ดทรายเม็ดเล็ก ๆ ที่ซัดผ่านก้อนหินทุกวัน ก็ยังทำให้ก้อนหินนั้นกลมเกลี้ยงได้ แต่วิริยะไม่ใช่ความดุดันอย่างเอาเป็นเอาตาย หรือ ต้องให้ได้ดังใจเสมอ เพราะในบางเวลาบางสถานการณ์ เราอาจจะต้องปล่อยวาง หรือ วางเฉยเพื่อรอสภาวะที่เหมาะสมกว่า เพื่อบรรลุถึงจุดประสงค์นั้น และให้จดจำไว้เสมอว่า ถ้าคุณตกจาก ความหวัง (hope) คุณจะเจ็บน้อยกว่าตกจาก ความคาดหวัง (expectation)


จิตตะ คือใจ ที่จดจ่อต่อสิ่งที่เราคิดเราทำและรับผิดชอบด้วยความรอบคอบและรู้จริง ไม่ใช่สักแต่ทำไปแบบสุกเอาเผากิน ถ้าจะศึกษาอะไรก็มุ่งมั่นให้ได้ความรู้นั้นจนเป็นผู้ชำนาญ การจะมีใจจดจ่อต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งเรียกอีกอย่างว่าสมาธิ เมื่อใจเป็นสมาธิ ใจของคุณจะไม่หวั่นไหวไปกับสิ่งที่จะฉุดคุณออกไปความตั้งใจ เช่นความเบื่อหน่าย หดหู่เซื่องซึมขี้เกียจ ฟุ้งซ่าน ร้อนใจ กระวนกระวายกลุ้มกังวล ลังเลสงสัย โกรธแค้น คิดร้าย เป็นต้น

วิมังสา คือ การทบทวนในสิ่งที่ได้คิดได้ทำมา โดยใช้วิจารณญาณอย่างรอบรู้ว่าเกิดผลดีและผลเสียอย่างไร เพื่อปรับปรุงแก้ไขให้ดียิ่งขึ้น แทนที่จะมุทะลุทำโดยไม่พิจารณาว่ามันเป็นเส้นทาง หรือ วิธีการที่ถูกต้องหรือดีที่สุดแล้วหรือไม่ เพราะการกระทำเช่นนั้น อาจพาเราเข้ารกเข้าพงไปได้ ยิ่งที่วิริยะมาก ก็ยิ่งผิดทางไปไกล 
 
นิทานอุทาหรณ์เตือนใจ คือเรื่องกบสองตัว
กบสองตัวกบสองตัวตกลงไปในหลุมลึก กบตัวอื่นเห็นว่าโอกาสรอดคงยาก ก็ตะโกนลงไปว่าอย่าพยายามกระโดดขึ้นมาเลยไม่มีทางสำเร็จ กบสองตัวไม่ฟัง ทั้งสองพยายามกระโดดให้สูงที่สุดเท่าที่มีเรี่ยวแรง กบตัวอื่นก็ได้แต่ตะโกนให้หยุดกระโดดเพราะเปล่าประโยชน์ ยังไง ๆ ก็ต้องตายแน่ ๆ ในที่สุดกบตัวหนึ่งหยุดกระโดด มันตกลงไปตาย ส่วนกบอีกตัวยังกระโดดไม่เลิก กบตัวอื่นร้องบอกให้หยุดเถิด จะเหนื่อยเปล่า แต่มันยิ่งกระโดดสูงขึ้น ๆ และ ในที่สุดก็พ้นปากหลุมขึ้นมาได้ กบตัวอื่นมารุมล้อมถามว่าเธอไม่ได้ยินพวกเราบอกให้หยุดกระโดดหรือ ? ” แต่พบว่า...
...กบตัวนั้นหูหนวกสนิท มันคิดว่ากบตัวอื่นกำลังตะโกนเชียร์มันอยู่...
ขอขอบคุณบทความดีๆ จาก ดร.เอ๋ย (อภิวรรณ รัตนิน สายประดิษฐ์)