12.9.53

รู้จักใจ



ธรรมะที่พระครูเกษมธรรมทัต วัดมเหยงคณ์ แสดงที่เรือนธรรม ประจำวันที่ ๙ ก.ค.๕๑ มีรายละเอียดดังนี้

นะ โม ๓ จบ “นมตถุ รตตนตยสส” ขอถวายความนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย ขอความผาสุข ความเจริญในธรรม จงมีแก่ญาติสัมมาปฏิบัติทั้งหลาย ต่อไปนี้ก็จะได้ปรารภธรรมะตามหลักธรรมของคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมา สัมพุทธเจ้า เพื่อเป็นแนวทางเรื่องการอบรมจิตใจ พัฒนาจิต ให้เป็นจิตที่มีสติ มีสมาธิ มีปัญญา เข้าถึงวิมุตติความหลุดพ้นจากอาสวะกิเลส ดับเหตุแห่งทุกข์ เข้าถึงบรมสุขคือมรรค ผล นิพพาน ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนาได้ เราจะถึงได้ก็ต้องมีปัญญา ไม่ใช่ถึงได้ด้วยเพียงแค่ปราถนา หรือว่าเพียงแค่การทำให้เกิดความสงบ แม้การปฏิบัติเพียงแค่มุ่งความสงบ ก็ยังไม่สามารถที่จะถึงขั้นวิมุตติหลุดพ้นจากอาสวะกิเลสได้ ความสงบก็เป็นเพียงการข่มไว้ ระงับไว้ เป็นยาระงับไข้ เป็นยาระงับปวด ไม่ใช่เป็นยารักษา ยารักษาต้องถึงขั้นปัญญา ต้องมีปัญญา ปัญญาจึงจะเป็นยารักษาใจให้หายป่วยจากโรคกิเลส กิเลสเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ถ้ารักษาใจให้หายป่วย ให้หายจากกิเลส จิตสะอาดบริสุทธิ์ถึงจะพ้นทุกข์ได้ ปัญญาที่ว่าก็คือความรู้แจ้งเห็นจริง ความรู้แจ้งเห็นจริง เรียกว่า “วิปัสสนา” เรียกว่า “วิชชา” ความรู้เห็นตามความเป็นจริง

ใน ความเป็นจริงของชีวิตเป็นจริงอย่างไร? เราจะคิดเอา นึกเอา ดูเอาจากภายนอกไม่ได้ จะต้องรู้ด้วยญาณ รู้ด้วยปัญญาภายใน ในความเป็นจริงของชีวิตก็คือ สักแต่ว่าเป็นธรรมชาติ คำว่าธรรมชาติก็คือปฏิเสธความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล ความเป็นตัวตน เรา เขา เป็นเพียงสักแต่ว่า ธาตุธรรมชาติ ธาตุก็คือธรรมชาติที่ทรงไว้ หรือสิ่งที่ทรงไว้ ซึ่งลักษณะของตนๆ ธรรมชาติแต่ละอย่างๆมาประกอบกัน มาอิงอาศัยซึ่งกันและกัน แล้วก็มาถูกอวิชชาบังตัณหาทะยานอยาก อุปาทานความยึดมั่นถือมั่น เกิดความสำคัญมั่นหมาย เห็นผิด คิดผิด ยึดเอาว่า เป็นตัวเรา คิดเอาว่า เป็นของเที่ยง เป็นตน เป็นตัวเรา เป็นเขา เป็นสัตว์ เป็นบุคคลขึ้นมาจริงๆ แล้วปัญญาก็จะเป็นตัวทำความรู้แจ้ง ให้สว่างในความเป็นจริง เห็นความเป็นจริง ตามความเป็นจริง เห็นว่าไม่เที่ยงในสรีระในร่างกายและในจิตใจ ไม่เที่ยงก็คือเปลี่ยนแปลง ผันแปร เกิดดับ หมดไป ดับไป เกิดใหม่ ดับไป

ธรรมชาติแต่ ละอย่างที่ ประกอบเป็นชีวิต เกิดดับอยู่ตลอดเวลา หมดไป ดับไป แล้วก็เกิดใหม่ สืบต่อไปอยู่อย่างรวดเร็ว แล้วบางคนก็บังคับมันก็ไม่ได้ บังคับอยากให้เกิด บังคับอยากให้ดับ บังคับไม่ได้ เรียกว่า มันต้องเป็นเช่นนั้นเอง มันต้องเกิดดับไปตามเหตุตามปัจจัย ถ้ามีปัญญาจะเข้าไปรู้เห็นอย่างนี้ รู้เห็นความไม่เที่ยง เห็นความเกิดดับ เห็นความไม่ใช่ตัวตน แล้วเราจะเห็นได้อย่างไร? เอาตาเนื้อไปดูก็ไม่เห็น เอาหูไปฟังก็ไม่ได้ ต้องใช้ตาใจ ตาปัญญา แล้วจะมีตาปัญญา ดวงตาเห็นธรรม ก็ต้องอาศัยการฝึกฝน อบรมเจริญสติขึ้นมา สติก็จะต้องระลึกรู้อยู่กับสภาวะ หรือธรรมชาติที่เป็นจริง

ถ้าเอาสติไประลึกอยู่กับของปลอม สมมุติ บัญญัติ สัตว์ บุคคล ตัวตน ก็จะไปตามสมมุติ อย่างดีก็คือได้ความสงบ อันนี้พระพุทธเจ้าท่านได้ทรงเปิดเผยให้ ถ้าพระพุทธองค์ไม่ทรงมาแสดงธรรมเปิดเผย เราก็หลงอยู่กับสมมุติไปเรื่อยๆ หลงอยู่กับความเป็นจริงเป็นจัง รูปร่าง สังขาร หลับตาแล้ว เห็นเป็นรูปร่าง ร่างกายตัวเอง พึงทราบว่า นี้คือสมมุติ ไม่ใช่ของจริง

ตัวอย่าง ฝรั่งที่ไปสอนเขา เขาค้าน เขาบอกว่า ไม่จริง เพราะมีตัวอยู่ มีร่างกายอยู่ แล้วจะบอกว่า ไม่จริงได้อย่างไร? ก็เลยบอกว่า เพราะมันจำขึ้นมาต่างหาก เกิดจากความจำ ความคิด ความปรุงประมวลขึ้นมา หลับตาแล้วก็เลยมองเห็นเป็นรูปเป็นร่าง เป็นแขน ขา หน้าตา มันจำขึ้นมาได้ เราสร้างขึ้นมาต่างหาก แล้วเราก็หลงไปกับมัน

พวกฝรั่งเขา ปฏิบัติ ธรรมกันอยู่ พานั่งเป็นชั่วโมง เขาก็นั่งได้ บางคนก็มีสมาธิมาก แต่ว่าเขาไม่รู้จักสภาวะ เราไปสอนเรื่องสภาวะ เรื่องรูป เรื่องนาม เป็นของใหม่ของเขา เพราะเขามุ่งแต่จะทำจิตให้นิ่งอย่างเดียว นิ่ง ว่าง มีความสุข ก็เลยแนะให้ฟัง ให้ดูสภาวะ ดูความรู้สึก เขาก็เริ่มเข้าใจขึ้น เลยกลายเป็นสนธิสัญญาจะต้องผูกพัน เขาจะเอาจริง จะเข้าคอร์สปฏิบัติ บางคน ๑๐ วัน บางคน ๑๒ วัน ๑๕ วัน เขาจะจัดสถานที่ ให้อยู่กันคนละห้องๆเก็บตัวปฏิบัติ เราก็ยังไม่ได้รับปากเขา แต่เขาก็เตรียมประกาศ มกรานี้ ๒-๓ รอบ มิถุนาอีก ก็เลยบอกว่า เดี๋ยวใช้สื่อทางอินเตอร์เน็ตก็แล้วกัน สอนจากเมืองไทย เดี๋ยวนี้เห็นภาพกันได้ เขาเรียกอะไร? (VDO Conference) นั่นแหล่ะ!! เพราะทางโน้น ต่างประเทศเขาทำได้อยู่แล้ว เรามาทำของเราให้สื่อกันได้

ส่วน คนไทยเราที่นั่น เราก็ไปจังหวะที่เขาจะสร้างวัด เลยเป็นข้อผูกพันจะต้องไปทำวัดอีกวัดหนึ่ง วัดไทยเนเธอแลนด์ เขาทำมูลนิธิขึ้นมาแล้ว แล้วก็อยากมีวัดที่เป็นด้านปฏิบัติ เพราะว่า ไม่มีวัดที่จะสอนในด้านปฏิบัติเท่าไหร่? เราไปสอนปฏิบัติก็เลยเขาล๊อคของเขาพอดี เพราะฉะนั้น เรียกว่า เรามานึกถึงคนไทยเรา ซึ่งมีโอกาสมากเหลือเกิน เขาไม่มีโอกาสดีอย่างเรา ที่จะมีผู้สอน มีสถานที่ปฏิบัติ ของเรามีโอกาส เราก็อย่าทิ้งโอกาสอันนี้ ก่อนที่เราจะหมดโอกาสเสียก่อน เมื่อกี้นำปฏิบัติไปได้ผลบ้างไม๊? (ได้ผลบ้าง) เรียกว่า พยายามนำอย่างเต็มที่ พยายามอย่างดีที่สุด ไหนจะให้เสียงจูงใจ? เสียงก็น่าจะสะกดพอสมควรนำใจให้สงบได้ และนำไปดูสภาวะ นำใจ จูงใจ สอดแทรกเข้าไป นำให้ดู ให้เจอสภาวะ น่าจะทำได้ดีนะ!!

ดู ใจได้ไม๊? เดี๋ยวนี้มีวิธีสอนดูใจ เรื่องดูใจเมื่อก่อนก็มีปัญหามาเรื่อย ปฏิบัติๆไปแล้ว ไปถึงระดับถึงขั้นที่จะต้องดูใจ แต่ดูใจไม่ออก บางคนก็ดูไปเรื่อยๆ ดูกายได้ ดูลมหายใจเข้าออกได้ ดูความไหว ความเย็น ความร้อน ตึง อ่อน ไหว ดูได้ แตดูใจไม่ออก หาใจไม่เจอ เพราะฉะนั้น เราอยู่ในที่คนรู้ใจ เราต้องดูใจเป็น เดี๋ยวนี้ต้องใช้วิธีการถาม อาตมาใช้เทคนิคตรงนี้ ถ้าใครมาบอกว่า แล้วดูอย่างไรดูใจ? ก็เลยจะต้องถามเดี๋ยวนั้นว่า ลองดูว่า ในขณะนี้ใจรู้สึกอย่างไร? โยมลองดูตัวเองซิ!! ใจขณะนี้รู้สึกอย่างไร? ตอบได้ไม๊? ถ้าตอบได้ ก็แสดงว่า ดูใจแล้ว ได้ดูใจมาขณะหนึ่งแล้ว ที่นี้บางคนบอกก็ยังไม่ได้ ก็ต้องเอาตัวอย่างลงไปอีกว่า ขณะนี้ใจสบาย? หรือไม่สบาย? หรือเฉยๆ? ต้องตอบ ถ้าอ่านใจตัวเอง ตอบได้ แสดงว่า เราดูใจแล้ว

ตัวอย่าง ใจขณะนี้โกรธหรือไม่โกรธ? ลองดูซิ!! โกรธไม๊? หรือไม่โกรธ? แต่อย่าเดานะ ต้องผ่านมา อ๋อ!!..ไม่โกรธ เราก็รู้ไม่โกรธ ใจขณะนี้ฟุ้งซ่านหรือไม่ฟุ้ง? ใจขณะนี้รู้สึกท้อแท้หรือรู้สึกปกติ? ใจขณะนี้มีความอิ่มเอิบหรือเฉยๆ? บางทีต้องใส่คำถามลงไป ที่นี้โยมก็ไปใส่เองก็ได้ ไปตั้งคำถามให้ตัวเองว่า ในขณะนี้ใจเรารู้สึกอย่างไร? ดูซิ!! ใจสบายหรือไม่สบาย? มันก็จะจูงไปหาใจ จูงสติไปหาใจ จูนไปหาใจ ก็เจอ หาใจได้ ที่นี้เราก็ดูใจเป็น ดูความรู้สึก อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ

นักปฏิบัติถ้าดูใจไม่เป็น มันก็จะไปตัน ไปตันอยู่แค่ตรงไหน? สมาธิมีมาก นิ่ง ว่าง เฉย ไม่รู้จะไปอย่างไร? อยู่อย่างนั้น เพราะว่า ลมหายใจมันก็ละเอียดเบาลง กายก็ไม่รู้สึก ลมหายใจก็นิ่ง เหมือนไม่หายใจ ว่าง จะตันอยู่แค่นั้น เป็นภาพบังคับแล้วว่า จะต้องดูใจ ถ้าดูใจไม่ได้ ก็ว่างอยู่อย่างนั้น อะไรไปรู้ว่าง? อะไรรู้สึกกับความว่าง? (ก็คือใจ) แสดงว่า ใจมีอยู่ แต่ทำไมไม่รู้ใจ? (เพราะจูนไม่เจอ) จูนไม่ถูก จูนไปที่ความว่าง ปรับคลื่นสติไม่ถูก มุมมองไปมองแต่ความว่าง แต่ไม่มองผู้มอง เข้าใจไม๊ผู้มอง ผู้ดู ผู้รู้? ก็ต้องใช้ศัพท์หลายศัพท์ บางคนก็ต้องว่า ดูไปที่เรา บางคนบอกว่า อ๋อ!!...ดูใจก็คือดูเราใช่ไม๊? (นั่นแหล่ะใช่) ดูเรา ดูไปเรา เพราะอะไร? (เพราะว่า ยังรู้สึกยึดถือใจเป็นเรา) เราก็ไปดูใจ เรียกว่า ย้อนอุปาทาน มันจะได้เจอใจ แล้วที่สุด ดูไปดูมา อ้าว!!...ไม่ใช่เรา เพราะเห็นมันหมด สภาพรู้มีการหมดๆๆ รู้หมด คือรู้ไม่ใช่รู้ตลอดเวลา ลองไปสังเกตดูใจ มีในแง่ของความรู้สึกอย่างหนึ่ง ในแง่ของความนึกคิดอย่างหนึ่ง ในแง่ของความเป็นสภาพรู้อย่างหนึ่ง เมื่อกี้ให้ดูความรู้สึกไปแล้วว่า สบาย ไม่สบาย เฉย ไม่เฉย ให้วิธีไปถามดู ถามตัวเอง ไปอ่านใจดู นี่แหล่ะเราจะได้ในแง่นี้แล้วล่ะ!! ดูความรู้สึก ใจในแง่ของความคิด เจอไม๊ความคิด? (เจอ) ใจคิดหรือไม่คิดขณะนี้? (คิด) เวลาคิด ก็รู้คิด รู้สักแต่ว่ารู้ เป็นอย่างไร? เวลารู้คิด เขาสักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่า ไม่ว่าอะไร? ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย ไม่เลยไปสู่สมมุติ ไม่ต้องไปรู้ว่า เอนี่!!...คิดเรื่องอะไร? งานอะไร? หรือคิดเรื่องใคร? อันนั้นเลยไปสู่สมมุติ ความคิดเป็นของจริง เป็นสภาวะ เรื่องราวของความคิดเป็นสมมุติ คิดถึงงาน คิดถึงคน คิดถึงสถานที่ เป็นความหมาย เป็นเรื่องราว เป็นชื่อภาษา นั่นคือสมมุติ เป็นธรรมารมณ์ที่เป็นสมมุติ เรื่องราวต่างๆเป็นธรรมารมณ์ คืออารมณ์ที่มาปรากฏทางใจ ใจเป็นผู้ไปรู้ ธรรมารมณ์คือใจไปคิดถึงเรื่องราว เพราะจิตเกิดขึ้นทุกครั้งต้องมีธรรมารมณ์ ต้องรับอารมณ์

ฉะนั้น มีเรื่องก็ต้องมีรู้ มีเรื่องราว ก็ต้องมีใจที่รู้เรื่องราวอยู่ ให้รู้มาที่ใจ ที่รู้ ที่คิด ที่ตรึกนึกคิด ถ้าหากฝึกระลึกรู้ที่ความคิดบ่อยๆ ก็จะพบว่า ความคิดมีการดับไป หมดไป พอรู้ เล้วก็หมดคิด เรื่องราวก็หายไปดีไม๊รู้แล้วเรื่องหายไป? (ดี) เรื่องอดีต พอรู้ความคิด เรื่องอดีตหายขาดไป คิดเรื่องอนาคต พอรู้ความคิด เรื่องอนาคตหายไป มันก็เบา ใจก็เบาขึ้น สบายขึ้น เพราะใจที่คิดเรื่องอดีตมากๆ คิดเรื่องอนาคตมากๆ ใจจะหนัก หนักอก หนักใจ แน่นหน้าอก สมองเครียดใช่ไม๊? เป็นอย่างนั้นบ้างไม๊? (เป็น) นั่นแหล่ะ!!..เพราะใจไม่รู้ใจ ใจไปสู่อดีต ใจไปสู่อนาคตมากๆ ใจจะวุ่นวาย จะหนักอกหนักใจ แต่ถ้ามีสติ รู้จิตที่คิด แต่ต้องรู้อย่างถูกต้อง ถ้ารู้คิดแบบบังคับ ไม่ถูก!! บังคับให้หยุดคิด กด!! กดความคิดให้หยุด กดมันอยู่ไม๊? (บางทีก็อาจจะอยู่) แต่มันอาจจะย้อนให้เกิดความคิด หรือกดอยู่ก็อาจจะเจอความแน่นตึง พอกดไม่อยู่ ก็ยิ่งหนักอกหนักใจมาก เครียด!! ปฏิบัติแล้วเครียดในจิตใจ แสดงว่า วางใจไม่ถูก ดูความคิดแล้วไปกด ไปยัน ไปบังคับ มันไม่ถูก มันจะไม่สบาย ใจจะไม่สบาย

แต่ ถ้าดูเฉยๆ หัดรู้ อย่างสักแต่ว่ารู้ อย่าไปกด อย่าไปยัน อย่าไปบังคับ เขาจะคิดไปอีกก็ไม่ว่าอะไร? (ก็รู้คิด) มาอีก ก็รู้อีก จะได้เห็นความคิดว่า มีความหมด คิดก็หมด คิดก็ดับ ทำให้เห็นความคิดไม่เที่ยง ทำให้เห็นความคิดเกิดดับ ทำให้เห็นความคิดไม่ใช่ตัวตน ความคิด ความรู้สึก สภาพรู้ จิตในแง่ของความเป็นสภาพรู้ จะยากกว่าดูความคิด จะยากกว่าดูความรู้สึกยากไม๊ดูใจที่รู้? ดูใจผู้รู้

ตัวอย่าง นั่งปฏิบัติไปนิ่ง เฉย ว่าง อะไรๆก็ว่าง? ไปอ่านใจดูว่า มันสบายหรือไม่สบาย? (มันก็เฉย) จะว่ามันมีปิติ มันก็ไม่มี ถ้ามันมีปิติ จะได้ดูความรู้สึกได้ใช่ไม๊ปิติ? แต่ถ้ามันมีความสุข จะได้ดูความสุข มันมีความคิด จะได้ดูความคิด ถ้าคิดก็ไม่คิด ปิติก็ไม่ปิติ สุขก็ไม่สุข มันเฉย ดูความเฉย ก็เลยไปสู่ความว่าง นี่!!..จึงต้องดูผู้รู้ ฉะนั้น ในความเฉย จิตที่เฉยๆ นิ่งๆ ก็ยังเป็นสภาพรู้อยู่ รู้อะไร? รู้ความว่างใช่ไม๊? จิตในแง่สภาพรู้ กำลังรู้ความว่าง ถามว่า รู้ความว่าง ใช่ความว่างไม๊? (ไม่ใช่ความว่าง) ความว่างถูกรู้ จิตเป็นผู้ไปรู้ความว่าง คนละอย่างกัน แต่เรามักจะปล่อยให้จิตไปจับอยู่กับความว่าง ไม่เจอสภาพรู้ว่าง ก็เลยไม่เห็นความเปลี่ยนแปลง เห็นแต่ว่างเฉยๆ แต่ถ้าจูนมาให้เจอสภาพรู้ ก็จะเห็นสภาพรู้เปลี่ยนแปลง สภาพรู้มีการเกิดดับ ไม่ใช่รู้ตลอดเวลา รู้แล้วหาย รู้แล้วหมดๆ เมื่อเห็นความหมดไปๆ ก็เท่ากับสภาพรู้ไม่เที่ยง สภาพรู้ไม่ใช่ตัวตน ถ้าเป็นตัวตน ก็ต้องตั้งอยู่ คงอยู่กับที่

ฉะนั้น ถ้าไม่เห็นสภาพรู้มีการเกิดดับ ก็จะถูกอุปาทานเข้าไปยึด เอาสภาพรู้นั้นว่า เป็นตัวเรา เป็นของเที่ยง เหมือนเรารู้อยู่ จึงบอกว่า บางครั้งก็ย้อนรอยอุปาทาน เมื่ออุปาทานยึดสภาพรู้เป็นเรา ก็ดูไปที่เรา ก็รู้สึกเป็นเรา อันนั้นก็เป็นเทคนิคอีกอันหนึ่ง สำหรับ คนที่ดูใจผู้รู้ไม่ออก ก็ลองดูไปที่เรา ถ้ารู้สึกว่า ปฏิบัติไป มองดู มันนิ่ง มันว่าง เหมือนเรากำลังเห็นความว่างอยู่ เรากำลังดูความว่างอยู่ ก็ดูไปที่เรา ทวนกระแส มาดูที่เรา จะได้เจอสภาพรู้ และก็จะได้พบว่า มันไม่ใช่เรา อาศัยอุปาทาน เพื่อทำลายอุปาทานใช่ไม๊? ต้องเอาอุปาทานมาเป็นประโยชน์บ้าง!! อุปาทานมันยึดใจผู้รู้เป็นเรา ทำให้รู้สึกปฏิบัติแล้ว มีเราอยู่ ก็ดูไปที่เรา ในที่สุดก็เห็นไม่ใช่เรา การเห็นไม่ใช่เรา ก็คือเห็นการหมดไป ดับไป บังคับไม่ได้ ไม่ใช่เรา อนัตตาปรากฏ เห็นอนัตตาขึ้นมา ฉะนั้น การรู้ที่ใจผู้รู้ มันอยู่ใกล้หรืออยู่ไกล? (อยู่ใกล้) แล้วจะไปหาอะไรที่ไหน? มันอยู่ใกล้ๆ ก็ดูมันที่ใกล้ๆ หัดดูใกล้เข้ามา ดูกระชั้นเข้ามาใกล้ๆ ใกล้ไปที่ไหน? (ใกล้ไปที่ตัวของมันเอง) (เจ้าของเอง) (ใจ) หลวงพ่อชาใช้คำว่าอะไร? (เจ้าของ) ดูเจ้าของใช่ไม๊? (ใช่) ดูใจผู้รู้ ดูเจ้าของเอง แทนที่จะไปดูสิ่งอื่นอย่างอื่น ก็ดูเจ้าของ ผู้รู้ให้ดูเจ้าของ ก็คือผู้รู้มาดูผู้รู้ ที่นี้การรู้อย่างนี้ ไม่ใช่เราค้นฝักใฝ่ ฝักใฝ่ค้นหา อย่างนี้ก็เครียดอีก ให้ไปดูใจผู้รู้ เครียดไปหมดเลย หนักอก หนักใจ หนักสมอง แสดงว่า ทำไม่ถูกอีก เครื่องไม้เครื่องมือที่จะไปจับเขาได้ ต้องเบา ต้องนุ่มนวล ต้องปกติ เครื่อง ไม้เครื่องมือคืออะไร? (ตัวสติปัญญา) สติสัมปชัญญะเป็นตัวเครื่องมือ ที่จะไปจับดูใจผู้รู้ จะต้องปกติ จะต้องวางใจให้ปกติ อย่าไปค้น อย่าไปฝักใฝ่ การรู้ที่รู้ ไม่ได้ออกแรงอะไรค้นหา? เราไปหาที่อื่น เราจะต้องค้นมาก แต่การหาที่ใจ มันใกล้!! จนกระทั่งที่ตัว เราจะต้องไปออกแรงตามหาที่ไหน? เพียงให้ใจนั้นเกิดการรู้สึกตัวของมันเอง รู้สึกขึ้นมา มันก็รู้ตัว ฉะนั้น เราต้องรักษาความเป็นปกติของการระลึกรู้ไว้ เมื่อมันยังไม่รู้ ก็ไม่ว่าอะไร? มันยังไม่รู้ ก็นิ่งๆไปก่อน รักษาความนิ่ง ความสงบ ความเบา ความนุ่มนวล ความสละสลวย ความสบายไว้ก่อน เพราะอันนี้เป็นฐาน เป็นสิ่งที่ดี เราทำมาได้ในระดับหนึ่งแล้ว จะพัฒนาให้ดูออก ก็ต้องเบาๆนุ่มนวล อย่าไปทำให้เสียกาล มันยังไม่รู้ ก็ไม่รู้

ฉะนั้น บางครั้งบางขณะก็สังเกตความรู้สึกของใจ บางครั้งก็สังเกตได้ว่า มีการนึกคิด บางครั้งก็สังเกตใจว่า มีสภาพรู้ บางครั้งก็สังเกตไม่ได้ มันก็นิ่งๆ บางครั้งก็ไปเจอความรู้สึกที่กายว่าไหวๆ บางครั้งก้ไปเจอเวทนาที่กาย มันปวด มันเจ็บมันก็จะรับรู้ไปในสิ่งต่างๆ แต่ให้มันอยู่ในสภาวะ สภาวะก็คือสภาพที่เป็นจริงที่กาย สภาวะที่กายมีอะไรบ้าง? รู้สึกอะไรบ้าง? (ปวดเมื่อย) ความปวดนี่!!..มันชัดเลยนะ นั่งใหม่ๆยังไม่มีปวดอะไร? เจอไม๊? หรือต้องคอยจนปวดถึงจะเจอสภาวะ มีตึง มีหย่อน มีไหว มีแข็ง มีอ่อน มีร้อน มีเย็น มีสบาย หรือไม่สบาย ความปวด ความเจ็บก็เป็นสภาวะ ก็รู้ แต่ไม่ต้องไปยึดถือ ถ้าไปยึดถือตรงที่ปวดก็ทรมาน มีเทคนิคอยู่อย่างหนึ่งที่นั่งได้นาน ไม่ทรมานก็คือดูความปวด ดูความเปลี่ยนแปลง คืออย่าไปใส่ใจตรงที่ปวด

ตัวอย่าง สมมุติปวดที่เข่า ที่ขาก็อย่าไปสนใจตรงนั้น มาสนใจส่วนบน มาสนใจอะไรบ้างส่วนบน? มีลมหายใจไม๊ที่ส่วนบน? (มี) ก็ดูลมหายใจไป ต่อเนื่องไป ปรับลมหายใจให้ดีไว้ เพราะว่า ถ้าเราปวดมากๆ เราจะเกร็งตัว ทำให้หายใจสั้น ทำให้หายใจหยาบ เราก็ปรับให้สบาย ดูลมเข้า ดูลมออก แล้วก็รู้ใจด้วยๆ รักษาใจให้ปกติไว้ โดยมีคำสอนว่า จะต้องปล่อยวาง เราก็ไปดูใจ ที่ปล่อยวางหรือกระวนกระวาย? มันกระวนกระวาย ก็รู้ลักษณะที่กระวนกระวาย แล้วก็ปล่อยว่าง มันก็จะวาง ใจก็จะวางเฉยได้บ้าง เฉยไม่ได้บ้าง ก็รู้กันไป พยายามมีสติรู้ที่ใจไว้เรื่อยๆ ดูลมหายใจไว้เรื่อยๆ มันก็จะลืมตรงที่เข่า ที่ขา แล้วมันก็จะไม่ปวด

อีก อย่างก็คือให้เห็นความเปลี่ยนแปลง ถ้าเราสังเกตความเปลี่ยนแปลงอะไรได้? จิตก็จะมีเครื่องระลึกรู้ มีที่ได้รับรู้อะไร? จิตได้รับสิ่งนี้ไปๆ สิ่งนี้หมดไป สิ่งนี้เปลี่ยนแปลง จิตได้ทำงานกับสิ่งที่เป็นอารมณ์ ก็จะจับอารมณ์นั้นไปเรื่อยๆ อารมณ์ต่างๆ มันก็จะลืมความปวด แต่ถ้าจิตไม่เจออะไรเปลี่ยนแปลงเลย อยู่เฉยๆ เดี๋ยวมันก็ไปหาปวดอีก ฉะนั้น การปฏิบัติเราสังเกตการเปลี่ยนแปลงไว้ แล้วก็จะเป็นประโยชน์ ให้เจอสภาวะ ใครที่นั่งแล้วไม่เจอสภาวะ? ให้สังเกตความเปลี่ยนแปลง

ตัวอย่าง สมมุติว่า เรานั่งไปมันนิ่ง มันว่าง มันไม่มีอะไรเลย ก็ลองส่องดูทั้งกายและใจ ดูความเปลี่ยนแปลงมันว่างจริงไม๊? มันเฉยจริงหรือป่าว? มันไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลยหรือ? เราตั้งข้อสังเกตอย่างนี้ มันเฉยจริงๆหรือป่าว? มันนิ่งจริงๆ มันไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจริงๆหรือป่าว? ถ้ามันนิ่งจริงก็ดี นิ่งก็นิ่ง เฉยก็เฉย พอดูไป มันก็จะเจอความเปลี่ยนแปลงแล้วก็ดูไปเรื่อยๆ อันนี้เปลี่ยน อันนั้นเปลี่ยน การที่จะทำให้เจริญสติไปได้เรื่อยๆ ไม่ว่า เราจะนั่ง เราจะยืน หรือเราจะอยู่นิ่งๆในอริยบทใดก็ตาม ถ้าเราสังเกตความเปลี่ยนแปลงได้ สติก็จะจับสภาวะนั้นๆไป มันก็เพลินอยู่กับสภาวะนั้นเปลี่ยนแปลง

ตัวอย่าง เหมือนเราเพลินอยู่กับการดูทีวี มันมีอะไรให้ดูอยู่เรื่อยๆ มันก็ลืมเรื่องอื่นไปหมดใช่ไม๊? (ใช่) อันนี้ก็เหมือนกัน มันก็มีสภาวะให้ดูเปลี่ยนแปลงๆ มันก็ลืมตรงที่ปวด ก็นั่งไปได้เป็นชั่วโมง พอไปนานๆ ตรงที่ปวดอยู่แล้ว ลืมไปนานๆ มันก็หายปวด มันชาจนเลยชา ชาจนหายชาได้เอง ถ้าเราไม่ขยับ หายชา หายปวดได้ แล้วก็ไม่ทรมาน นี้ ก็เป็นเทคนิค การที่จะฝึกจิตใจ หรือว่าอาศัยเวทนาเชื่อมโยงไปหาจิต เวทนาก็เป็นประโยชน์ ปกติหาจิตใจไม่เจอ รู้สึกว่า ดูไป มันเป็นอันเดียวกันหมด ระหว่างใจกับกาย ไม่เห็นมันเป็นคนละอย่าง แต่ที่จริงมันคนละอย่าง สภาวะที่กายกับสภาวะที่ใจ เป็นคนละอย่างกัน คนละธรรมชาติ ในทางการปฏิบัติ มันจะต้องแยกได้ แยกเป็นคนละอย่าง แยกสภาวะทางกาย กับสภาวะทางใจ ตลอดทั้งสภาวะทางกายแต่ละอย่าง มันก็คนละอย่างๆ สภาวะทางใจก็เป็นแต่ละอย่างเหมือนกัน ระหว่างกายต่อกาย ระหว่างใจต่อใจ หรืออย่างน้อยก็เห็นระหว่างกายกับใจเป็นคนละอย่างๆ รูปกับนาม เห็นรูปกับนามคนละอย่าง

ฉะนั้น อย่างเวทนาเกิดขึ้น เกิดขึ้นที่ไหน? (เกิดขึ้นที่กาย) ปวดที่เข่าก็อาศัยความปวด แล้วสังเกตดูว่า มันมีใจอีกต่างหากไม๊? (มี) ความดิ้นรนกระวนกระวาย นี่แหล่ะ!!..คือส่วนของใจ มันก็เจอใจที่ดิ้นรนกระวนกระวาย ก็สังเกตไปที่ความดิ้นรนกระวนกระวายกับความปวด มันอันเดียวกันหรือป่าว? (คนละอัน) ดูไปๆ เดี๋ยวมันแยกกันได้ ปวดกับใจที่กระวนกระวายหรือเฉยๆบ้าง มันคนละอย่างกับความปวด พอมันแยกๆกันได้คราวนี้ ก็เห็นมันเป็นคนละอัน ที่นี้ก็พยายามที่จะให้สติมาอยู่กับใจไว้ ก็จะถึงกาย ความรู้สึกทางกาย รับสลับได้บ้าง แต่ไม่ไปยึดอยู่ ก็ไม่ทรมาน เชื่อไม๊ว่า จิตรับได้ทีละอย่าง? (เชื่อ) จิตรับได้ทีละอย่างไม๊? หรือว่าจิตรับได้ทีละหลายอย่าง? (ทีละอย่าง)

ตัวอย่าง เห็น ได้ยิน คิดนึก พร้อมกันหรือยัง? (ไม่พร้อม) ขณะนี้เห็นก็เห็น ได้ยินก็ได้ยิน คิดนึกก็คิดนึก รู้สึกเย็นร้อน ก็รู้สึก ได้ยินก็ได้ยิน เห็นก็เห็น รู้สึกก็รู้สึกในกาย พร้อมกันไม๊? (ไม่พร้อม) ตอบว่าไม่พร้อม ตอบด้วยสัญญาหรือตอบด้วยปัญญาที่เห็น? (ปัญญา) ถ้าตอบด้วยปัญญาที่เห็นจริง นั่นแหล่ะแสดงว่า เราเห็นสภาวะเป็นคนละอัน เป็นคนละอย่างกัน ระหว่างที่เห็นก็อย่างหนึ่ง ได้ยินก็อย่างหนึ่ง คิดนึกก็อย่างหนึ่ง รู้สึกไหวก็อย่างหนึ่ง ปวดก็อย่างหนึ่ง ไม่พร้อมกัน เห็นอย่างนี้รู้อย่างนี้ว่า เป็นคนละขณะๆ จะเป็นปัจจัยให้เห็นความเกิดดับ เดี๋ยวก็จะเห็นได้ว่า เสียงก็ดับ เห็นก็ดับ ได้ยินก็ดับ คิดก็ดับ ไหวก็ดับ ได้ยินก็ดับอีก ได้ยินใหม่ก็หมดไปอีก เพราะว่า มันมีอย่างอื่นเข้ามาสลับ มีอย่างอื่นสลับไปสลับมา อันไหนเกิดขึ้นมา? พอมีอันใหม่เกิด อันเก่าก็หมด มีอันใหม่เกิดขึ้นมา อันเก่าก็หมดไป ก็เห็นความเกิดความดับของสภาวะ ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เห็นความเกิดดับไปต่างๆ รวมทั้งใจที่รู้ ใจที่คิดก็หมด ดับไป ก็จะรู้สึกได้ว่าไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นสุขหรือเป็นทุกข์? (เป็นทุกข์) เป็นทุกข์หมายความว่าอย่างไร? (ทนอยู่ไม่ได้) ทนอยู่ไม่ได้หมายความว่าอย่างไร? (คือต้องดับไป) เกิดแล้วก็ต้องดับไป เกิดแล้วตั้งอยู่ไม่ได้ ดับไป เห็นแล้วก็ต้องดับไป ฉะนั้น การเห็นแล้วก็ดับไป แสดงว่าไม่เที่ยง มาจากไม่เที่ยง มันจึงต้องดับ เปลี่ยนแปลงใช่ไม๊? (ใช่) พอได้ยินเสียงดัง แล้วเปลี่ยนแปลงก็ดับ เห็นขึ้นมา เปลี่ยนแปลงแล้วก็ดับ เย็นขึ้นมา เปลี่ยนแปลงแล้วก็ดับ ไหวขึ้นมา เปลี่ยนแปลงแล้วก็ดับ คิดขึ้นมา เปลี่ยนแล้วก็ ดับ ฉะนั้น สิ่งใดไม่เที่ยงคือเปลี่ยนแปลงๆ สิ่งนั้นก็ต้องเป็นสุขหรือเป็นทุกข์? (เป็นทุกข์) เป็นทุกข์คือทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ต้องดับไป บังคับได้ไม๊? (ไม่ได้) อย่าดับ มันก็ดับ อย่าเกิด มันก็เกิด เมื่อบังคับไม่ได้ ควรหรือที่จะยึดถือว่า นั่นเป็นเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตัวตนของเรา มันก็ละความเป็นตัวตนในขณะนั้น ละของมันเอง ถ้าเห็นแจ้ง เห็นความจริงว่าหมดไป ดับไปอย่างนี้ ความรู้สึกเป็นตัวตนก็ถูกลบ ความรู้สึกเป็นตัวตน ไม่รู้จะเป็นตัวตนได้อย่างไร? ในเมื่อมันหมดไป ดับไป จะเอาเป็นตัวตน ไม่รู้จะเอาได้อย่างไร? ความเป็นอนัตตาก็ปรากฏ แม้แต่จิตที่รู้ จิตผู้รู้ สภาพรู้ ก็ยังดับ สภาพรู้ก็ไม่ใช่เราอีก แล้วจะเอาอะไรเป็นเรา? ความคิดใช่เราคิดไม๊? (ไม่ใช่) ความคิดทำไมไม่ใช่เรา? (มันไม่ได้ตั้งอยู่) หรือคิดแล้วก็หมดไปๆ บังคับไม่ได้

ตัวอย่าง การเห็นใช่เราเห็นไม๊? (ไม่ใช่) ทำไมไม่ใช่เราเห็น? (เพราะมันหมดไปอยู่เรื่อย) บังคับไม่ได้

ตัวอย่าง ได้ยินใช่เราได้ยินไม๊? (ไม่ใช่) ทำไมไม่ใช่เรา? (เพราะเป็นสิ่งหนึ่งๆที่หมดไป ดับไป) ก็จะพบความเป็นจริง เป็นอนัตตาปรากฏ ดูๆก็ไม่น่าจะยากอะไรนะ? ดูแล้วทางไปทางแห่งความเห็นแจ้ง ความเห็นอนัตตาไม่ใช่ใกล้เกินไปใช่ไม๊? (ใช่) ไม่ได้อยู่ไกล ไม่ได้อยู่ดาวอังคาร!! ดาวพุธ!! ไปอย่างนั้นว่ายาก แต่อันนี้มันมีอยู่ที่ตัว แล้วมันมีอยู่ไม๊? (มี) การเห็น ได้ยิน ความคิดนึก ความรู้สึกต่างๆ เวทนามีอยู่ไม๊? (มี) มีอยู่ทุกวันไม๊? (มี) ทุกเวลาไม๊? (ทุกเวลา) ทุกอริยบทไม๊? (ทุกอริยบท)ฉะนั้น ความรู้เห็นแจ้งจึงมีทุกเวลา ปฏิบัติได้ ให้ผลได้ จึงไม่จำกัดกาล ใจสว่างหรือยัง? ความเข้าใจก็ไม่เที่ยงเสียอีก ผ่านไป ก็ลืมไปอีก ก็ต้องเสริมไว้บ่อยๆ ฟังไว้บ่อยๆ ทำความเข้าใจไว้บ่อยๆ

ฉะนั้น การรู้ ระลึกรู้ การเห็น ได้ยิน รู้กลิ่น รู้รส รู้สัมผัสกาย จะต้องผูกอยู่กับปัจจุบันด้วย ทำไมต้องให้เป็นปัจจุบัน? ปัจจุบันคืออะไร? อดีต อนาคต ปัจจุบัน อดีตคืออะไร? (สิ่งที่ผ่านไปแล้ว) อนาคตคืออะไร? (สิ่งที่ยังมาไม่ถึง) ปัจจุบันคืออะไร? (สิ่งที่กำลังปรากฏ) ถ้าเห็นที่กำลังเป็นปัจจุบัน ก็ต้องกำลังเห็น ไม่ใช่เห็นผ่านไปแล้ว การระลึกรู้ จะต้องระลึกรู้ กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ก็ต้องระลึกรู้ ขณะกำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังรู้กลิ่น กำลังรู้รส กำลังรู้สึกเย็น กำลังรู้สึกร้อน กำลังรู้สึกอ่อน กำลังรู้สึกแข็ง กำลังคิดนึก กำลังชอบ กำลังไม่ชอบ กำลังสงบ กำลังไม่สงบ กำลังเป็นสภาพรู้อยู่ และสิ่งเหล่านี้ที่กล่าว กำลังปรากฏนี้อยู่นานไม๊? (ไม่นาน) เร็วขนาดไหน? กี่นาทีถึงดับ? เห็นนานเท่าไหร่ถึงดับ? ถึงนาทีไม๊? (ไม่ถึง) ถึงวินาทีไม๊? (ไม่ถึง) เอาแค่ไม่ถึงวินาทีก็พอแล้วนะ ให้เห็นได้อย่างนั้น ก็พอแล้ว ให้เห็นแล้ว ก็ให้หมดไปทันที ได้ยินแล้วก็หมดทันที รู้กลิ่นแล้วก็หมดทันที ความรู้แจ้งอยู่ที่ปัจจุบัน เพราะะฉะนั้น จึงต้องรู้ปัจจุบัน

ตัวอย่าง การนั่งคิดเพลินไปเรื่อย ทั้งอดีต อนาคต ไม่ใช่แล้ว!! รูปนามไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน คิดไปเรื่อย อันนี้ก็เป็นวิปัสสนึกไปแล้ว เราต้องมีปัจจุบันไว้ แล้วก็มีสภาวะรองรับ สติจะต้องรู้ที่สภาวะ สมมุติไม่มีเปลี่ยนแปลงหรือเปลี่ยน? (เปลี่ยน) สมมุติเปลี่ยนแปลงไม๊? (เปลี่ยน) ชื่อเปลี่ยนแปลงไม๊? (เปลี่ยน) ไปเปลี่ยนชื่อในทะเบียนอยู่เรื่อยใช่ไม๊? ชื่อ ภาษา เป็นจริงหรือป่าว? (ไม่จริง) ใจเรานึกถึงชื่อ ถึงภาษา จิตมีอารมณ์ในใจ นึกอะไร? ก็มีชื่อ มีภาษา เมื่อมันไม่มีจริง ภาษาไม่มีจริง มันจะมีความไม่เที่ยงไม๊? มันจะมีเกิดมีดับไม๊? สิ่งใดไม่มี มันจะมีเกิด มีดับหรือป่าว? ก็สิ่งมันไม่มี แล้วจะเอาอะไรมาเกิด? มาดับได้อย่างไร? ของไม่มี!!

ตัวอย่าง เราฝันว่าเรารวย ถูกรางวัลที่ ๑ อะไรอย่างนี้? เรารวยได้ไม๊? (ไม่ได้) ทำไมไม่ได้? (มันไม่มีจริง) มันไม่ได้ถูกจริง อันนี้เหมือนกัน อะไรที่เป็นของปลอม? (ก็คือของไม่มี) ของไม่มีจะให้มันเกิด ให้มันดับได้อย่างไร?

ฉะนั้น ถ้ารู้อยู่ที่สมมุติ เราจะไม่มีโอกาสเห็นเกิดดับ นอกจากเราคิดเอาเอง คิดว่า มันไม่เที่ยงเอาเอง สังขารร่างกาย มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย เราคิดเอาอย่างนี้ ไม่ใช่การไปรู้เห็น!! การรู้เห็นที่เกิดดับ ต้องเห็นในเสี้ยวของวินาทีนั้น เพราะว่า ความจริงเป็นอย่างนั้น รูปเห็น ดับทันที ได้ยิน ดับทันที แต่มันเกิดใหม่ต่อๆ ดับไปๆ ฉะนั้น เสียงที่ดังอยู่ตลอดเวลา เราว่า มันดังอยู่ตลอดเวลาไม๊? เราลองไปหัดฟังดู เราได้ยินตลอดเวลาไม๊? ในขณะได้ยิน มีการเห็นบ้างไม๊? มีการคิดบ้างหรือป่าว? มีการรู้สึกเย็นร้อนสลับบ้างไม๊? (มีสลับกันเข้ามา) ก็แสดงว่า ที่มันดังตลอดเวลา ก็เกิดดับอยู่ ฉะนั้น เราจะพบได้ว่า มันมีการเกิดหมดไป ดับไปทั้งหมด แต่เนื่องจากว่า ความถี่ของมัน มันดังแล้วดับๆ มันถี่มาก มันก็เลยเป็นเหมือนของเที่ยง

ตัวอย่าง เหมือนแสงไฟ ตามหลักวิทยาศาสตร์เกิดดับไม๊? (เกิดดับ) หรือเราดูภาพในจอทีวีดับติดๆ แต่มันถี่มาก เราจับมันไม่ทัน เราก็ดูว่า มันติดอยู่ตลอดเวลา

รูป นามมีความเร็วกว่านั้น แต่ถ้าฝึกสติไป เราก็จะเห็นความอัศจรรย์ของสติว่า มันก็เก่ง สติ สัมปชัญญะ ปัญญา มีความสามารถจับความเปลี่ยนแปลง เกิดดับได้ ฉะนั้น ต้องให้มีปัจจุบัน ระลึกให้เป็นปัจจุบัน คือสิ่งที่กำลังปรากฏ รู้ว่า อะไรเป็นสภาวะ? อะไรเป็นสมมุติ? ก็พยายามที่จะคัดสมมุติเข้ามาสู่สภาวะ นอกจากชื่อภาษาที่เป็นสมมุติแล้ว ความเป็นรูปร่างสัณฐาน ก็เป็นสมมุติด้วย

ตัวอย่าง หลับตาแล้ว เห็นเป็นหน้าตา เป็นแขน ขา ท้อง หน้าท้อง แผ่นหน้าอก เหล่านี้เป็นสมมุติ หลับตา แล้วก็เห็นว่า มันโป่ง มันแฟ๊ป มันเข้า มันออก มันขึ้น มันลง มันก็เป็นสมมุติ

เมื่อเรารู้เข้าใจอย่าง นี้ ปกติเวลาปฏิบัติไป จิตมันจะทิ้งสมมุติอยู่แล้ว จะทิ้งรูปร่าง ทิ้งความหมาย ปฏิบัติไป มันก็ไม่รู้สึกว่าพอง ว่ายุบ ว่าเข้า ว่าออก เราก็ไม่ว่าอะไร? แต่ดูความรู้สึก มันก็จะมีไหวๆ แต่บอกไม่ได้ว่า มันคือพองหรือยุบ เข้าหรือออก ก็ดูความไหวๆ ความไหวๆมีการเกิดดับ ถ้าเราดูความไหว เราก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดดับ เข้าใจไม๊? สภาวะเป็นสภาพที่มีจริง เป็นความรู้สึก การระลึกรู้ ก็รู้อย่างไม่ต้องปรุงแต่ง ไม่ต้องไปคิด ไม่ต้องไปใส่ความนึกคิดอะไรขึ้นมา? รู้สึก ระลึก เป็นปัจจุบันสั้นๆ เป็นปัจจุบันชั่วขณะ มีรู้ มีละ ผสมกลมกลืนกันไป ทั้งรู้และทั้งละด้วย อย่าไปเพ่ง รู้อย่างเดียว เดี๋ยวมันเพ่ง พอเพ่ง แล้วก็เบ่ง เบ่งแล้วก็เคร่งตึง รู้ตัว เราก็อดเผลอไปเพ่งไม่ได้ใช่ไม๊? (ใช่) ปฏิบัติไปเราต้องรู้ตัวว่า นี่!!..เพ่งแล้ว รู้ว่า เพ่งก็ผ่อน คอยผ่อน คอยปล่อย คอยวาง ไม่เพ่ง แต่ก็ไม่เผลอ รับรู้ดูเบาๆอย่างไม่เอาอะไร? ไม่จดไม่จ้อง ประคับประคองพอดีๆ ไม่ใช่เพ่งอย่างรุนแรง ปล่อยสภาวะธรรมชาติเขาแสดงให้เป็นไปเอง หยุดดู หยุดรู้อย่างปกติ ในที่สุดก็ดูแลใจให้ปล่อยให้วางอยู่เสมอ วันนี้ก็สมควรแก่เวลา ก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ขอความสุขความเจริญในธรรม จงมีแก่ทุกท่านเทอญ


________________________________________
ธรรมะจากวันที่ 9 กค โดยพระครูเกษมธรรมทัต วัดมเหยงคณ์
เริ่มหัวข้อโดย: มานี ที่ วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2551, 22:07:03 น.
________________________________________
ขอขอบคุณที่มา : หลวงพี่ Community