23.3.53

ความเจ็บไข้มาเตือนให้ฉลาด

ความเจ็บไข้มาเตือนให้ฉลาด (พุทธทาสภิกขุ)



นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺสฯ
เอตํ ภยํ มรเณ เปกฺขมาโน
โลกามิสํ ปชฺชเห สนฺติเปกฺโข-ติ
ธมฺโม สกฺกจฺจํ โสตพฺโพ-ติ


ณ บัดนี้ จะได้แสดงธรรมเทศนา เป็นเครื่องตักเตือนคนเจ็บไข้ จงตั้งใจฟังดังต่อไปนี้

ขึ้น ชื่อว่าความเจ็บไข้นี้ พึงเห็นว่าเป็นของธรรมดาที่จะต้องมีมาแก่สังขารทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์ชนิดไหน เพราะเหตุว่าสังขารทั้งหลายจะต้องมีความเปลี่ยนแปลงไป เมื่อมีความเปลี่ยนแปลงแล้ว ก็จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงทั้งขึ้นๆ ลงๆ เปลี่ยนแปลงไปในทางขึ้นก็ดูสบายดี แต่ถ้าเปลี่ยนแปลงไปในทางลง ก็คือความเจ็บไข้, และเมื่อสังขารทั้งหลายมีอายุมากขึ้นตามลำดับแล้ว ก็มีแต่จะเปลี่ยนแปลงไปในทางเจ็บๆ ไข้ๆ นี่แหละคือหัวข้อที่จะต้องมองให้เห็นตามที่เป็นจริง ว่าสังขารทั้งหลายย่อมจะเป็นอย่างนี้เอง

สรุปความได้ว่า ความเจ็บๆ ไข้ๆ นี้มันเป็นธรรมดาของสังขารทั้งหลาย
ที นี้จะได้พิจารณากันต่อไปว่า ความเจ็บไข้นี้มีมาทำไม? ควรจะพิจารณาให้เห็นว่าความเจ็บไข้มีมาสำหรับจะตักเตือน ความเจ็บไข้ไม่ได้มาสำหรับให้เป็นทุกข์หรือเสียใจ ไม่ต้องมีเรื่องที่จะต้องทุกข์หรือเสียใจ จะเป็นทุกข์หรือเสียใจก็ไม่มีประโยชน์อะไรเพราะสังขารต้องเป็นอย่างนั้นเอง แต่ที่แท้แล้วความเจ็บไข้ มิได้มาเพื่อให้เป็นทุกข์ หรือเพื่อให้เสียใจ แต่ว่ามาเพื่อตักเตือนให้ฉลาด,มาเพื่อสั่งสอนให้ฉลาด,หรือว่ามาเพื่อบอกให้ เตรียมเนื้อเตรียมตัว สำหรับการดับไม่เหลือแห่งความทุกข์

ถ้ายัง เวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสาร มันก็ต้องเป็นทุกข์ด้วยความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ถ้าจะไม่ให้มีความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ก็ต้องอย่าเวียนว่ายไปในวัฏสงสาร เดี๋ยวนี้ความเจ็บความไข้ได้มาตักเตือน ได้มาแสดงให้เห็นแล้วว่ามันเป็นอย่านี้เอง ถ้าต้องการจะพ้นจากความเป็นอย่างนี้คือความเจ็บไข้แล้ว ก็ต้องเตรียมตัวสำหรับความดับไม่เหลือ
ความดับไม่เหลือนี้ เป็นความดับของสังขาร อย่ามีเชื้อเหลือมาเกิดอีกต่อไป ถึงแม้ว่าร่างกายยังไม่ทันจะแตกดับ จิตใจก็สมัครดับ เรียกตรงๆ ว่า สมัครตายเสียก่อนตาย เราจะมีการปลงลงไปในทุกสิ่งทุกอย่างว่าหมดเรื่องแล้ว สิ้นเรื่องกันที





เรา จะต้องรู้สึกว่า ถ้าจะขืนเวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสาร ก็จะต้องเป็นอย่างนี้ไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าต้องการจะหยุดจะพักมันก็ต้องไม่เป็นอย่างนี้ ก็ดับความรู้สึกของสังขารนั้นๆ ว่าเป็นตัวเราหรือเป็นของเราเสีย
สังขาร มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ถ้าเราไปยึดถือเอาว่าสังขารเป็นของเรา ความเจ็บไข้มันก็กลายเป็นของเรา เราก็รู้สึกเป็นทุกข์ เสียใจหรือน้อยใจ ถ้ามาตั้งใจกันเสียใหม่ให้เด็ดขาดลงไปด้วยสติปัญญา หรือด้วยกำลังจิตอันเข้มแข็ง ว่าเรื่องของสังขารก็จงเป็นไปตามเรื่องของสังขาร อย่ามาเป็นเรื่องของเรา

เรื่อง ของสังขาร ย่อมไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แต่เรื่องทีเราปรารถนานั้นเป็นเรื่องหยุด เรื่องดับ เรื่องสงบ เรื่องเย็น เป็นนิพพาน จิตจะต้องมองให้เห็นอย่างนี้เสียก่อนจึงจะไม่ถือเอาเรื่องของสังขาร มาเป็นเรื่องของเรา ให้สังขารเจ็บไข้ ทำลายไปตามธรรมดา จิตไม่ถือเอาความเจ็บ ความไข้หรือความตายนั้นเป็นของเรา จิตจะไม่ผูกพันกับความเจ็บไข้และความตาย แต่เปลื้องออกมาเสีย สู่ความเป็นอิสระ

นี่แหละคือคำเตือนของความเจ็บไข้ มันมาเตือน ไม่ได้มาสำหรับให้เราเป็นทุกข์ หรือเสียใจ แต่มาเตือนว่าจงเตรียมตัวไว้ให้พร้อม สำหรับความดับไม่เหลือ แห่งความรู้สึกว่าตัวกูว่าของกู โดยใจความก็คือดับตัวกู ดับของกูเสีย
ในการเตรียมตัวเตรียมใจสำหรับจะดับไม่เหลือนี้ จะแยกออกเป็น 3 อย่างคือ

เรื่อง ที่ 1 สังขารมีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ถ้าเราไปยึดถือเอาว่าสังขารเป็นของเรา ความเจ็บไข้มันก็กลายเป็นของเรา เรารู้สึกเป็นทุกข์ เสียใจหรือน้อยใจ ถ้ามาตั้งใจกันเสียใหม่ ให้เด็ดขาดลงไปด้วยสติปัญญา หรือ ด้วยกำลังจิตอันเข้มแข็งว่าเรื่องของสังขาร ก็จงเป็นไปตามเรื่องของสังขาร อย่ามาเป็นเรื่องของเรา

เรื่องที่ 2 เรื่องบุญกุศลต่างๆ นานา เรื่องทาน เรื่องศีล เรื่องสงเคราะห์ สาธารณประโยชน์อะไรก็ตาม ที่เป็นเรื่องบุญ เรื่องกุศล เราก็ได้ทำเสร็จแล้ว ได้ทำเพียงพออัตภาพแล้ว ได้เหมาะสมแก่การที่เกิดมาเป็นมนุษย์คนหนึ่งๆ แล้ว ในการที่จะบำเพ็ญกุศล ได้มากเพียงไร เราก็ได้ทำเสร็จแล้ว นี้อีกเรื่องหนึ่ง

เรื่องที่ 3 นี้ก็คือทำความระลึกว่ามันพอกันทีสำหรับที่จะเวียนว่ายไปในอาการอย่างนี้คือ มัน พอกันทีสำหรับที่จะเวียนวายไปในสังสารวัฏฏ์ จะเกิดเป็นมนุษย์ คือจะต้องไปเกิดเป็นมนุษย์อีกมันก็ประสบกันอย่างนี้อีก พอกันที แม้จะไปเกิดเป็นเทวดาก็ยังต้องจะตาย ยังจะต้องเป็นทุกข์เป็นร้อนเพราะกิเลส ไม่ดีไปกว่ามนุษย์ ก็พอกันที สำหรับที่จะไปเกิดเป็นเทวดา

ถ้าเราทำ บุญทำกุศลไว้ก็ได้เกิดเป็นเทวดา นี้แน่นอน แต่ว่าเกิดเป็นเทวดาแล้วไม่ใช่ว่าจะพ้นทุกข์ ยังคงมีกิเลสสำหรับเป็นต้นเหตุให้มีความทุกข์ มีความกลัว มีความเจ็บไข้ในทางจิต คือกิเลสเบียดเบียนอยู่เสมอ ทำบุญเพื่อเกิดเป็นเทวดานี้ก็พอกันที





ที นี้แม้ว่าจะสูงขึ้นไปกว่านั้น ในบางครั้งบางคราวบางชาติ เราก็เกิดเป็นพรหม คือเป็นเทวดาขั้นสูงสุด แต่แล้วมันก็ต้องยังมีตัวมีตน สำหรับที่จะต้องตายอยู่นั่นเอง ยังมีความยึดมั่นถือมั่นว่า ตัวกูอยู่นั่นเอง ยึดมั่นว่าอะไรๆ เป็นของกูอยู่นั่นเอง แม้พวกพรหมก็มีตัวกูมีของกูที่เข้มข้น ไม่อยากจะตาย เพราะว่าสบายมาก ก็เลยไม่อยากจะตาย แต่แล้วมันก็ต้องตาย พวกพรหมก็ยังต้องเป็นทุกข์เพราะความตาย เพราะฉะนั้นพอกันทีสำหรับที่จะไปเกิดเป็นพรหม

นี้เรียกว่า พอกันทีสำหรับที่จะเวียนว่ายไปในสังสารวัฏฏ์: เกิดเป็นมนุษย์อีกก็ไม่ไหว เกิดเป็นเทวดาก็ยังไม่ไหว เกิดเป็นพรหม ก็ยังไม่ไหวอีก อยู่นั่นเอง เพราะฉะนั้นพอก้นทีสำหรับสังสารวัฏฏ์ ขอให้ระลึกอย่างนี้ด้วยอีกเรื่องหนึ่ง

รวม กันก็เป็น 3 เรื่องด้วยกัน คือระลึกว่าเรื่องโลกๆ ก็ได้ทำเสร็จแล้ว เรื่องบุญกุศลก็ได้ทำเสร็จแล้ว พอกันทีสำหรับการเวียนว่ายไปในสังสารวัฏฏ์

จงทบทวนใหม่อีกครั้งหนี่ง ในการที่จะระลึกเพื่อความดับไม่เหลือเพื่อนิพพาน นั้น จะต้องระลึกว่า
1. เรื่องโลกๆ เราก็ได้ทำเสร็จเรียบร้อยไปแล้ว
2. เรื่องบุญเรื่องกุศลเราก็ได้ทำเสร็จเรียบร้อยไปแล้ว
3. พอกันทีสำหรับจะเวียนว่ายไปเกิดเป็นมนุษย์ หรือเป็นเทวดาหรือเป็นพรหมด้วยบุญกุศลนั้นๆ

มี อยู่เป็น 3 เรื่องดังนี้ ล้วนแต่แสดงว่า พอกันทีสำหรับเรื่องที่จะทำเรื่องโลกๆ พอกันทีสำหรับที่จะทำบุญทำกุศล พอกันทีสำหรับที่จะเวียนว่ายไปตามอำนาจของบุญกุศล เราต้องการจะหยุด เราต้องการจะดับไม่เหลือ เพื่อความไม่เวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป นี่แหละเรียกว่า หยุดกันที่สำหรับสังสารวัฏฏ์ ขอสมัครดับไม่เหลือแห่งตัวกู - ของกูเป็นพระนิพพาน

พระพุทธเจ้าท่านก็ได้ตรัสไว้ว่า “เอตํ ภยํ มรเณ เปกฺขมาโน” เมื่อใดมองเห็นภัย อันเกิดมาจากความเจ็บไข้หรือความตาย “โลกามิสํ ปชฺชเห สนฺติเปกฺโข” เมื่อนั้นจงละเหยื่อในโลกนี้เสีย มุ่งหวังสันติ คือความสงบระงับดับไม่เหลือนั้นเถิด





ทบทวน อีกครั้งหนึ่งว่า เมื่อใดมองเห็นภัย แห่งความเจ็บไข้หรือความตาย เป็นเบื้องหน้าแล้ว เมื่อนั้นจงละเหยื่อต่างๆ ในโลกเสีย มุ่งหวังหาสันติ คือความสงบระงับดับเย็น เป็นนิพพานเถิด

เดี๋ยวนี้เราก็มองเห็นอยู่ แล้วว่า ความเจ็บไข้หรือความตายเป็นภัยที่คุกคาม ทีนี้เราจะเอาชนะความเจ็บไข้หรือความตายให้ได้ เราก็จะต้องละเหยื่อในโลกเสีย ถือว่าเรายังไปยินดีหรือไปหวังอะไรในเรื่องโลกๆ แล้วความเจ็บไข้และความตายมันก็จะคุกคามเรา มันจะบีบคั้นเราให้เรากลัวให้เราเสียใจ ให้เราเป็นทุกข์ แต่ถ้าเราไม่หวังอะไรๆ ในโลกแล้ว มันก็บีบคั้นเราไม่ได้ ความเจ็บไข้หรือความตายจะมาขู่เข็ญให้เรากลัว ให้เราเสียใจให้เราเป็นทุกข์นั้นไม่ได้
เราเป็นทุกข์เพราะเรายังหวังอยู่ในโลก เรายังติดอยู่ในโลกยังติดอยู่ในสิ่งสวยๆ งามๆ ของสังสารวัฏฏ์

พอ เรามองเห็นว่า นี้เป็นของมายาชั่วคราวและหลอกลวงให้เราเป็นทุกข์ ดังนี้แล้ว เราก็ไม่หวังเหยื่อ ไม่หวังที่จะกินเหยื่อ ไม่หวังที่จะเอร็ดอร่อยสนุกสนานในเรื่องโลกๆ อีกต่อไป ไม่หวังที่จะไปเกิดเป็นอะไรที่ไหนอีกทั้งหมด มันเป็นเรื่องมายาหลอกลวง ชั่วคราวไปทั้งนั้น

เมื่อจิตมามองเห็นว่า ไม่มีอะไรที่น่าไปเอา ไม่มีอะไรที่น่าไปเป็นที่ไหนในโลก หรืออย่างไร ดังนี้แล้ว จิตก็น้อมไปสู่ขันติ คือความสงบรำงับดับไม่เหลือ

บัดนี้ จงทำในใจให้เห็นว่า ไม่มีอะไรในโลกไหนที่น่าเอาหรือน่าเป็น มีอยู่อย่างเดียวเท่านั้นคือสันติ ความสงบรำงับ ดับไม่เหลือ เยือกเย็นเป็นนิพพาน

นิพพานคือความเย็น เพราะไม่มีความร้อนคือกิเลส ไม่เวียนว่ายไปในสังสารวัฏฏ์ เป็นความเย็นดังนี้ ความเจ็บไข้มาเตือนให้เราพอกันทีสำหรับความเวียนว่ายไปในวัฏสงสาร มองเห็นภัยในความเจ็บไข้ และความตายแล้ว จงสละความอาลัยในเหยื่อโลกเสีย ไม่หวังจะกินเหยื่ออะไรในโลกอีกต่อไปแล้ว มุ่งหน้าเฉพาะต่อสันติ ความดับเย็นเป็นนิพพานไม่มีการเวียนว่ายอีกต่อไปเถิด

ธรรมเทศนาตักเตือนคนเจ็บไข้ สมควรแก่เวลา ยุติลงเพียงเท่านี้

เอกสารอ้างอิง : พุทธทาสภิกขุ. ความเจ็บไข้มาเตือนให้ฉลาด (พิมพ์ครั้งที่ 2), สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, กรุงเทพมหานคร : 2548.
 
Thank you for Dhamma : http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=rb515&month=20-02-2010&group=19&gblog=3

19.3.53

บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ

บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ คือ สิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งการทำบุญ หรือกล่าวอย่างง่ายๆว่า การกระทำที่เกิดเป็นบุญ เป็นกุศล แก่ผู้กระทำดังต่อไปนี้

บุญสำเร็จได้ด้วยการบริจาคทาน (ทานมัย) คือการเสียสละนับแต่ทรัพย์ สิ่งของ เงินทอง ตลอดจนกำลังกาย สติปัญญา ความรู้ความสามารถ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้อื่นโดยส่วนรวม รวมถึงการละกิเลส โลภะ โทสะ โมหะ ออกจากจิตใจ จนถึงการสละชีวิตอันเป็นสิ่งมีค่าที่สุดเพื่อการปฏิบัติธรรม

บุญสำเร็จได้ด้วยการรักษาศีล (สีลมัย) คือการตั้งใจรักษาศีล และการปฏิบัติตนไม่ให้ละเมิดศีล ไม่ว่าจะเป็นศีล ๕ หรือศีล ๘ ของอุบาสกอุบาสิกา ศีล ๑๐ ของสามเณร หรือ ๒๒๗ ข้อของพระภิกษุ เพื่อรักษากาย วาจา และใจ ให้บริสุทธิ์สะอาด พ้นจากกายทุจริต ๔ ประการ คือ ละเว้นจากการฆ่าสัตว์ ละเว้นจากการลักทรัพย์ ละเว้นจากการประพฤติผิดในกาม และเสพสิ่งเสพติดมึนเมา อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท วจีทุจริต ๔ ประการ คือไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดปด ไม่พูดเพ้อเจ้อ และไม่พูดคำหยาบ มโนทุจริต ๓ ประการ คือ ไม่หลงงมงาย ไม่พยาบาท ไม่หลงผิดจากทำนองคลองธรรม

บุญสำเร็จได้ด้วยการภาวนา (ภาวนามัย) คือการอบรมจิตใจในการละกิเลส ตั้งแต่ขั้นหยาบไป จนถึงกิเลสอย่างละเอียด ยกระดับจิตใจให้สูงขึ้นโดยใช้สมาธิปัญญา รู้ทางเจริญและทางเสื่อม จนเข้าใจอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค เป็นทางไปสู่ความพ้นทุกข์ บรรลุมรรค ผล นิพพานได้ในที่สุด

บุญสำเร็จได้ด้วยการประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ (อปจายนมัย) คือการให้ความเคารพ ผู้ใหญ่และผู้มีพระคุณ ๓ ประเภท คือ ผู้มี วัยวุฒิ ได้แก่พ่อแม่ ญาติพี่น้องและผู้สูงอายุ ผู้มี คุณวุฒิ หรือคุณสมบัติ ได้แก่ ครูบาอาจารย์ พระภิกษุสงฆ์ และผู้มี ชาติวุฒิ ได้แก่พระมหากษัตริย์ และเชื้อพระวงศ์

บุญสำเร็จได้ด้วยการขวนขวายในกิจการที่ชอบ (เวยยาวัจจมัย) คือ การกระทำสิ่งที่เป็นคุณงามความดี ที่เกิดประโยชน์ต่อคนส่วนรวม โดยเฉพาะทางพระพุทธศาสนา เช่น การชักนำบุคคลให้มาประพฤติปฏิบัติธรรม มีทาน ศีล ภาวนา เป็นต้น ในฝ่ายสัมมาทิฎฐิ

บุญสำเร็จได้ด้วยการให้ส่วนบุญ (ปัตติทานมัย) คือ การอุทิศส่วนบุญกุศลที่ได้กระทำไว้ ให้แก่สรรพสัตว์ทั้งปวง การบอกให้ผู้อื่นได้ร่วมอนุโมทนาด้วย ทั้งมนุษย์และอมนุษย์ ได้ทราบข่าวการบุญการกุศลที่เราได้กระทำไป

บุญสำเร็จได้ด้วยการอนุโมทนา (ปัตตานุโมทนามัย) คือ การได้ร่วมอนุโมทนา เช่น กล่าวว่า “สาธุ” เพื่อเป็นการยินดี ยอมรับความดี และขอมีส่วนร่วมในความดีของบุคคลอื่น ถึงแม้ว่าเราไม่มีโอกาสได้กระทำ ก็ขอให้ได้มีโอกาสได้แสดงการรับรู้ด้วยใจปีติยินดีในบุญกุศลนั้น ผลบุญก็จะเกิดแก่บุคคลที่ได้อนุโมทนาบุญนั้นเองด้วย

บุญสำเร็จได้ด้วยการฟังธรรม (ธัมมัสสวนมัย) คือ การตั้งใจฟังธรรมที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อน หรือที่เคยฟังแล้วก็รับฟังเพื่อได้รับความกระจ่างมากขึ้น บรรเทาความสงสัยและทำความเห็นให้ถูกต้องยิ่งขึ้น จนเกิดปัญญาหรือความรู้ก็พยายามนำเอาความรู้และธรรมะนั้นนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ สู่หนทางเจริญต่อไป

บุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรม (ธัมมเทสนามัย) คือ การแสดงธรรมไม่ว่าจะเป็นรูปของการกระทำ หรือการประพฤติปฏิบัติด้วยกาย วาจา ใจ ในทางที่ชอบ ตามรอยบาทองค์พระศาสดา ให้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่บุคคลอื่น หรือการนำธรรมไปขัดเกลากิเลสอุปนิสัยเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้อื่น ให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธา มาประพฤติปฏิบัติธรรมต่อไป

บุญสำเร็จได้ด้วยการทำความเห็นให้ตรง (ทิฏฐชุกัมม์) คือ ความเข้าใจในเรื่อง บาป บุญ คุณ โทษ สิ่งที่เป็นแก่นสารสาระหรือที่ไม่ใช่แก่นสารสาระ ทางเจริญทางเสื่อม สิ่งอันควรประพฤติสิ่งอันควรละเว้น ตลอดจนการกระทำความคิดความเห็นให้เป็นสัมมาทิฏฐิอยู่เสมอ

บุญกิริยาวัตถุทั้ง ๑๐ ประการนี้ ผู้ใดได้ปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งหรือยิ่งมากจนครบ ๑๐ ประการแล้ว ผลบุญย่อมเกิดแก่ผู้ได้กระทำมากตามบุญที่ได้กระทำ ยิ่งได้มีการเตรียมกาย วาจา ใจ ให้สะอาดบริสุทธิ์ ตั้งใจจรดเข้าสู่ศูนย์กลางกาย หยุดในหยุด เข้าไปแล้วก็ยิ่งได้รับบุญมหาศาลตามความละเอียดประณีตที่เข้าถึงยิ่งๆ ขึ้นไป


Thank you for Dhamma: http://www.dhammakaya.org/dhamma/boon01.php

"Enough" ... ความเพียงพอ ...

ความตั้งใจสร้างบล๊อกนี้ เพื่อต้องกาีรที่เก็บบทความดีๆ ไว้อ่านและแบ่งปันผู้อื่นได้อ่านด้วยกัน 
ปกติมักเป็นผู้ชอบคิดเข้าข้างตัวเองเสมอ จิตมักส่งออกนอก กล่าวโทษผู้อื่นแม้จะเข้าใจว่ากำลังปฏิบัติธรรมอยู่ แต่ไม่เคยมีความเบาจิตเบาใจได้

การได้มีโอกาสปะทะกับผัสสะแรงๆ และการมีกัลยาณมิตรทางธรรมที่ดี คือโอกาสทองที่ทำให้ได้เริ่มเข้าใจกระแสของธรรมขึ้นทีละนิดทีละน้อย

ธรรมะ ที่เป็นตัวอักษร เป็นเพียงแรงบันดาลใจ และสิ่งที่ช่วยแก้ไขความขัดข้องสงสัย แต่การจะเข้าใจธรรมสัจจะได้ เป็นเรื่องของการปฏิบัติ  การลงมือปฏิบัติ (อย่างจริงจังเท่านั้น) เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้เข้าใจธรรมะได้อย่างแท้จริง